Thai / English

รง.รองเท้าเจ๊งเป็นลูกโซ่-สภาอุตฯ ชี้ยังผวาค่าเงิน



28 .. 50
ผู้จัดการ

โรงงานผลิตวัสดุรองเท้าทยอยเลิกกิจการเป็นลูกโซ่ ที่บุรีรัมย์แจ้งปิด และเลิกจ้างแรงงานเพิ่มอีก 2 แห่ง รวมกว่า 800 คน ในเดือนพ.ย.นี้ เผยก่อนหน้าปิดกิจการไปแล้ว 1 แห่ง มีแรงงานกว่า 670 คน ระบุบริษัททั้ง 3 แห่งผลิตป้อนรายใหญ่ บริษัทยูเนี่ยน ฟุตแวร์ ในเครือสหยูเนี่ยนที่จะปิดกิจการสิ้นปีนี้ สภาอุตฯ ระบุทิศทางค่าเงินบาทยังคงไม่ชัดเจนส่งผลให้ผู้ผลิตรองเท้าไม่กล้ารับออร์เดอร์จากต่างประเทศกลัวขาดทุน

รายงานข่าวจากจังหวัดบุรีรัมย์ ว่า โรงงานผลิตวัสดุประกอบรองเท้า บริษัท บุรีรัมย์ ยูเนี่ยน ชู จำกัด สาขา อ.ลำปลายมาศ และ สาขา ละลวด อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ รวม 2 แห่ง ได้แจ้งหยุดกิจการและเลิกจ้างพนักงานกว่า 800 คน หลังได้รับผลกระทบจากบริษัท ยูเนี่ยน ฟุทแวร์ จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา ในเครือสหยูเนี่ยน ที่จะปิดกิจการในสิ้นปี 2550

เบื้องต้นบริษัทบุรีรัมย์ ยูเนี่ยนฯ ยอมจ่ายเงินชดเชย เป็นเงินค่าตอบแทนวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าจ้างวันหยุดประจำปีที่ยังไม่ได้ลา ให้แก่พนักงานและลูกจ้างเป็นเงินกว่า 17 ล้านบาท จะมีผลในเดือนพฤศจิกายน 2550 ซึ่งบริษัทอ้างว่าสาเหตุที่ปิดกิจการ เพราะการผลิตประเภทกิจการรองเท้ามีการแข่งขันสูง ทำให้มีกำไรน้อย ขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ รวมทั้งได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข่งค่าและผันผวน ทำให้บริษัทไม่สามารถเปิดดำเนินกิจการต่อไปได้

ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มี บริษัท บ้านไผ่ ยูเนียน ฟุทแวร์ จำกัด อ.พุธไธสง จ.บุรีรัมย์ ผู้ผลิตวัสดุประกอบรองเท้า ได้แจ้งปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานไปแล้ว 1 แห่ง กว่า 670 คน ซึ่งบริษัทเตรียมจ่ายค่าชดเชยให้แก่พนักงานและลูกจ้างทั้งหมดเป็นเงินประมาณ 10 ล้านบาท มีผลตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคมนี้ บริษัทบ้านไผ่ ยูเนี่ยน ฟุทแวร์ ได้ดำเนินกิจการมากว่า 4 ปี เป็นบริษัทที่รับผลิตวัสดุประกอบรองเท้าให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ คือ บริษัท ยูเนี่ยน ฟุทแวร์ จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา ในเครือสหยูเนี่ยน ที่จะปิดกิจการในสิ้นปี 2550 เช่นเดียวกับกรณีของบริษัทบุรีรัมย์ ยูเนี่ยน ฯ ที่แจ้งปิดกิจการ 2 แห่ง ล่าสุด

นายเกษม วัฒนธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าวขณะนี้แรงงานส่วนหนึ่ง ได้มีโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อ.พุทไธสง และ อ.ลำปลายมาศ ซึ่งเป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า พร้อมที่จะรับเข้าทำงานต่อ ส่วนที่ยังไม่มีงานทำได้สั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปดูแล ด้านสวัสดิการต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ อย่างเป็นธรรม พร้อมทั้งจัดหาตำแหน่งงานว่างให้แก่แรงงานถ้าหากแรงงานต้องการ เพื่อคลายความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวแล้ว

ทางด้าน นางน้องนุด เขตร์กลาง อายุ 41 ปี 1 ในพนักงานบริษัทบ้านไผ่ ยูเนี่ยน ฟุทแวร์ จำกัด อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เปิดเผย ว่า หลังทราบว่าทางบริษัทจะปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน ตนกับเพื่อนพนักงานอีกหลายคนก็รู้สึกใจหาย เพราะต่างก็มีครอบครัวมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ อีกทั้งงานในปัจจุบันก็หายาก และไม่อยากไปทำงานนอกพื้นที่เพราะไม่มีใครดูแลลูก 2 คน สามีเองก็ต้องทำงานหาเงินช่วยกัน ถึงแม้บริษัทยืนยันจะจ่ายเงินชดเชยให้ตามสิทธิของแรงงาน แต่ก็ไม่อยากให้ปิดกิจการอยากจะทำงานที่โรงงานต่อ เพราะทำมานานและมีความชำนาญไม่อยากจะเปลี่ยนงาน

อย่างไรก็ตามหลังบริษัทประกาศจะปิดกิจการ ตนก็จำเป็นต้องไปสมัครงานที่โรงงานอื่นในพื้นที่ทิ้งไว้ แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะได้รับคัดเลือกเข้าทำงานหรือไม่ หากไม่ได้เข้าทำงานจริงก็คงต้องหางานอื่นทำ เช่น งานรับจ้างทั่วไป หรือกรรมกรก่อสร้าง เพราะไม่มีความรู้ความสามารถด้านอื่นเลย

อุตฯ สิ่งทอชัยภูมิยังอึดไม่ถึงขั้นวิกฤต

นายธีวรา วิตนากร ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นจังหวัดที่กำหนดให้อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของจังหวัด และได้รับสิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุนสูงสุด จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า จากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศและค่าเงินบาทแข็งตัว ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดชัยภูมิอย่างแน่นอน แต่ในภาพรวมสถานการณ์ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ จ.ชัยภูมิ ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต เพราะผู้ประกอบการในชัยภูมิทั้งรายเก่าและรายใหม่ที่มีอยู่ประมาณ 40 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าหรือการ์เม้นท์เพื่อการส่งออกกว่า 22 ราย และอุตสาหกรรมด้านเนตติ้ง (ทอเสื้อไหมพรม) กว่า 12 ราย มีการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ได้รวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสิ่งทอ ถือเป็นจังหวัดนำร่องแห่งแรกของประเทศไทย

ทั้งนี้ โรงงานต่างๆ ได้มีการปรึกษาหารือร่วมกันเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และข้อมูล ซึ่งถ้าผู้ประกอบการใดมีปัญหาก็จะร่วมมือช่วยเหลือกันประคับประคองให้ผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้

รวมทั้งกลุ่มคลัสเตอร์สิ่งทอจังหวัดชัยภูมิ ยังได้รวบรวมปัญหาและข้อเสนอต่างๆ ส่งไปยังรัฐบาล ผ่านทางสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเฉียงเหนือ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้วย

“ผู้ประกอบการสิ่งทอชัยภูมิราว 40 ราย ทั้งรายใหญ่ กลาง และเล็ก ได้พยายามช่วยเหลือกันเองโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ช่วยแชร์ออเดอร์ ไปจ้างผู้ประกอบรายเล็กในพื้นที่ที่มีปัญหาให้ช่วยผลิต เพื่อจะได้มีงานมีเงินหมุนเวียนในการจ้างพนักงาน ประคับประคองกิจการให้พ้นภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และเงินบาทแข็งค่าในช่วงนี้ไปได้ ซึ่งคาดว่าเมื่อมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศแล้ว จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจไทยกลับมาอีกครั้ง”นายธีวรา กล่าว

นายสมชัย กิจมีรัศมีโยธิน ประธานสภาอุตสากรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า จาก ที่ได้ร่วมหารือกันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอใน จ.ชัยภูมิล่าสุดพบว่า ยังคงมีออร์เดอร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีการเลิกจ้างงาน เพียงแต่ปัจจุบันประสบภาวะค่าเงินบาทแข็งตัว ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้นส่งสินค้าออกได้เงินน้อยลง จึงจำเป็นที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องปรับตัวบริหารจัดการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้สูงมากขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายทั้งพนักงาน เจ้าของกิจการต้องร่วมมือกัน และเชื่อว่าจะสามารถฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้

อย่างไรก็ตาม ด้านกลไกรัฐเอง รัฐบาลต้องหามาตรการเร่งด่วนเข้ามาเสริมและช่วยเหลือไปพร้อมกันด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบครั้งใหญ่และรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยร่วมกัน โดยเฉพาะการทำให้เกิดเสถียรภาพของค่าเงินก่อนที่จะแข็งค่าผันผวนมากขึ้นไปกว่านี้ จนกระทั่งผู้ประกอบการแรงงานไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ซึ่งแนวทางค่าเงินบาทนั้น ผู้ประกอบการเห็นว่าอัตราที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

บาทไม่นิ่งเอกชนไม่กล้ารับออร์เดอร์

นายธำรง ธิติประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ทิศทางค่าเงินบาทยังคงไม่ชัดเจนนักเนื่องจากมีการไหลออกและเข้าของเงินลงทุนต่างประเทศจึงส่งผลให้ผู้ผลิตรองเท้าส่วนหนึ่งไม่กล้ารับคำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์จากต่างประเทศเพราะเกรงว่าทิศทางค่าเงินบาทจะแข็งมากขึ้นอีกเมื่อมีการส่งมอบสินค้าซึ่งจะทำให้เกิดการขาดทุน

“กรณีที่ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่าทิศทางค่าเงินบาทอาจจะแข็งค่าได้เพราะมีเงินไหลเข้ามา แต่อีกวันหนึ่งก็มีเงินไหลออกทำให้เกิดการอ่อนค่าลงระดับหนึ่งทำให้เอกชนยังไม่แน่ใจว่าทิศทางที่ชัดเจนจะเป็นอย่างไรแน่จึงยังระมัดระวังในการรับออร์เดอร์อยู่”นายธำรง กล่าว

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา รองประธานส.อ.ท. และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กล่าวว่า ขณะนี้คงจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในเรื่องค่าเงินบาทเพราะเอกชนเองยังไม่กล้ารับออร์เอร์เพราะค่าเงินบาทยังคงไม่มีเสถียรภาพมากนักเพราะยังคงผันผวนซึ่งหากค่าเงินบาทไทยยังแกว่งตัวและแข็งค่ามากกว่าเพื่อนบ้านก็จะกระทบกับการส่งออกในช่วงสิ้นปีได้

“อุตสาหกรรมอาหารอีก 4 เดือนที่เหลือการส่งออกน่าจะโตตามเป้าหมายที่วางไว้ 12 เปอร์เซ็นต์ หรือมีมูลค่า 6.08 แสนล้านบาท เพราะในช่วงที่เหลือของปีเป็นฤดูกาลขายอาหาร แต่ก็ค่าเงินบาทจะไม่มีเสถียรภาพ เพราะค่าบาทที่ผันผวนทำให้มูลค่าในอุตสาหกรรมเกษตรในปีนี้หายไป 1 หมื่นล้านบาท”นายไพบูลย์กล่าว

อย่างไรก็ตามนอกจากปัญหาเงินบาทแล้ว ผู้ประกอบการอาหารกำลังได้รับผลกระทบจากกรณีที่ผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลกกำลังใช้มาตรการทางด้านความปลอดภัยมากีดกันทางการค้ามากขึ้น จึงย่อมกระทบไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก ดังนั้นภาคเกษตรกรในระดับต้นน้ำ-ปลายน้ำจึงต้องปรับตัว โดยเอกชนเคยเสนอให้ภาครัฐบรรจุในเรื่องอุตสาหกรรมอาหารเป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง หวังว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามานี้จะให้ความสนใจอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ผลกระทบค่าเงินบาท สถาบันอาหารเคยสำรวจถึงค่าเงินบาทที่เหมาะสมในพบว่าผู้ประกอบการต้องการที่ 37-38 บาท/ เหรียญสหรัฐ แต่ขณะนี้ค่าเงินบาทอยู่ที่ 33-34 บาท/เหรียญสหรัฐ ซึ่งในส่วนที่หายไป 3-4 บาท/เหรียญสหรัฐนี้ ทำให้เกิดการกดราคารับซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกร เมื่อโรงงานขายได้ในราคาที่ลดลง ดังนั้นจึงต้องไปลดต้นทุนด้วยการซื้อสินค้าเกษตรในราคาที่ถูกลง ซึ่งตรงนี้หากปล่อยให้เกิดขึ้นในระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร