Thai / English

โรงงานรองเท้าเลิกจ้างคนงานเกือบ700ชีวิต



16 .. 50
เดลินิวส์

พิษเศรษฐกิจค่าเงินส่งผลโรงงานรองเท้า “ บ้านไผ่ ยูเนี่ยน ชูส์” เมืองบุรีรัมย์ สั่งเลิกจ้างคนงานกว่า 700 ชีวิต หลัง “ยูเนี่ยน ฟุทแวร์” ปิดกิจการ ส่งผลกระทบออเดอร์สั่งซื้อหดหาย เพราะเป็นโรงงานรับช่วงตัดเย็บหน้ารองเท้ายี่ห้อดังให้ “ยูเนี่ยน” ด้านนายจ้างยอมจ่ายชดเชย ตามกฎหมาย ประธานแรงงานไทยออกโรงเรียกร้องขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาททั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. นายสุวิทยา จันท วงศ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ภายหลังบริษัท ยูเนี่ยน ฟุทแวร์ จำกัด มหาชน ตั้งอยู่ที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ได้ประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงาน กว่า 5,000 คน เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน โดยให้มีผลภายในสิ้นปี 50 นั้น ขณะนี้ผลพวงจากปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบกับ บริษัท บ้านไผ่ ยูเนี่ยน ชูส์ จำกัด ตั้งอยู่ อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งประกอบกิจการตัดเย็บหน้ารองเท้า มีลูกจ้าง 670 คน ได้แจ้งขอปิดกิจการภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้ โดยให้เหตุผลว่า บริษัท ยูเนี่ยน ฟุทแวร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่และบริษัทรับชิ้นงานมาตัดเย็บก่อนจะประกอบ ผลิตเป็นรองเท้ายี่ห้อไนกี้ มียอดการสั่งซื้อลดลง และปิดกิจการ ส่งผลให้บริษัท บ้านไผ่ฯ ต้องลดและปิดกิจการในสิ้นปีนี้

นายสุวิทยา กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่สวัสดิการในพื้นที่ได้เข้าไปเจรจาให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย และทำบันทึกข้อตกลงกับนายจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยนายจ้างรับปากจะทยอยเลิกจ้างเป็นรายงวดผลิตและจ่ายค่าชดเชย ตลอดจนสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้างทุกประการ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีหนังสือแจ้งไปยังนายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รับทราบเรียบร้อยแล้ว

ที่ โรงแรมรัตนโกสินทร์ ในเวทีสาธารณะ เรื่อง "ทิศทางการปฏิรูปการเมืองและสังคม เพื่อประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตลูกจ้าง" โดย น.ส.วิไล วรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า จากการตรวจสอบที่ผ่านมาพบว่าปัญหาการเลิกจ้างบางครั้งก็ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจขาลงเพียงอย่างเดียว แต่อาจเกิดจากนายจ้างต้องการย้ายฐานการผลิตที่มีค่าแรงราคาถูกกว่า สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ลูกจ้างได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ ที่ผ่านมารัฐมักโทษแต่ปัญหาค่าเงินบาท แต่กลับไม่เสนอแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน และการที่กระทรวงแรงงานออกมาแต่งตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากมาย เป็นเพียงสร้างภาพเท่านั้น ดังนั้น ขอเรียกร้องให้รัฐตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเลิกจ้าง พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงกรณีเลิกจ้างด้วย

"กองทุนประกันความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยรัฐต้องเรียกเก็บจากนายจ้าง ซึ่งสัดส่วนให้พิจารณาตามขนาดของโรงงานและความเสี่ยงต่าง ๆ เพราะหากเกิดการเลิกจ้างขึ้นมา ลูกจ้างจะได้มีเงินชดเชยจากกองทุนดังกล่าวได้ ที่สำคัญรัฐต้องให้ความคุ้มครองในสิทธิแรงงานอย่างครบถ้วน อย่างในเดือนตุลาคมนี้จะมีการปรับค่าจ้างในหน่วยงานราชการทั่วประเทศ ก็ควรมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้ลูกจ้างด้วย โดยจากปัจจุบันอยู่ที่ 191 บาทปรับเป็น 250-300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเลือก ปฏิบัติ" น.ส.วิไลวรรณ กล่าว.