Thai / English

"ไทยศิลป์"ไปไม่รอด ต้องปิดอีก 3พันฮือ-ตร.ตรึง


ข่าวสด
20 .. 50
เครือมติชน

เจ้าของโผล่แจง หนี้ท่วม-ไร้เงินกู้ รัฐออก7ทางแก้ สู้ศึกค่าบาทแข็ง

โรงงานไทยศิลป์ไปไม่รอด ต้องประกาศปิดกิจการรอบ 2 โดนฤทธิ์ค่าเงินบาทแข็งถล่มต่อเนื่อง สาวฉันทนา-หนุ่มโรงงานกว่า 3 พันช็อกซ้ำ เจ้าของชี้เหตุหาแหล่งเงินกู้ไม่ได้ สถาบันการเงินทุกแห่งปฏิเสธ เหลืออยู่เพียง 9 ล้าน จ่ายเงินเดือนให้ครึ่งเดียว ขณะที่พนักงานฮือไม่พอใจ จี้จ่ายเต็มจำนวน ส่อเค้าชุมนุมอีกระลอก ตร.ระดมกำลังหน้าโรงงานหวั่นบานปลาย กระทรวงอุตฯ สั่งรับมือ ประสานแรงงานดูแลสิทธิประโยชน์ จัดหาที่ทำงานใหม่ อ้างไม่กระทบอุตสาหกรรมรวมของประเทศ ขณะที่การแก้ปัญหาค่าเงิน รัฐบาลรับ 7 ข้อเสนอเอกชน ให้ถือครองดอลลาร์มากกว่า 2 แสน เปิดบัญชี จ่ายหนี้เป็นดอลลาร์ได้ เร่งรัฐวิสาหกิจคืนหนี้ ตั้งกองทุนดูแลเอสเอ็มอี

-"ไทยศิลป์"วุ่นอีก-ปิดโรงงานรอบ2

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. เกิดความวุ่นวายอีกครั้งที่โรงงานของบริษัท ไทยศิลป์อาคเนย์ อิมพอร์ต เอกซ์พอร์ต จำกัด ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าให้ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อไนกี้และอาดิดาส เนื่องจากเจ้าของโรงงานประกาศปิดกิจการรอบที่ 2 ทำให้พนักงานโรงงานไทยศิลป์ฯ ทั้งสาขาใหญ่ สาขาบางปลา และสาขาสำโรง ประมาณกว่า 3,000 คน รวมตัวกันที่โรงอาหารภายในโรงงาน เพื่อรอฟังการชี้แจงจากเจ้าของโรงงาน ขณะเดียวกันที่ด้านหน้าโรงงาน ทางพล.ต.ต.ชยุต ธนทวีรัชต์ ผบก.สมุทรปราการ ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากทุกโรงพัก และชุดปราบจลาจลประมาณ 200 นาย มาเตรียมพร้อม เพื่อรับมือหากเกิดเหตุวุ่นวาย หรือปิดถนนประท้วง เหมือนเมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่เจ้าของโรงงานปิดกิจการดื้อๆ เนื่องจากประสบกับปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ยอดสั่งสินค้าลดลง

ต่อมาเวลา 15.30 น. นางเยาวลักษณ์ อุนโอภาส เจ้าของโรงงาน ออกมาพบกลุ่มพนักงานที่โรงอาหาร และกล่าวชี้แจงว่า หลังจากที่โรงงานเปิดกิจการต่อได้ไม่นาน เพื่อหาช่องทางหาเงินมาเคลียร์หนี้สินต่างๆ ที่มีอยู่ แต่ทางบริษัทก็ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เนื่องจากได้รับการปฏิเสธจากสถาบันการเงินทุกแห่ง ที่ขอกู้เงินมาพยุงกิจการ ขณะเดียวกันบริษัทต้องรับภาระค่าจ้างพนักงาน ซึ่งจะถึงกำหนดชำระในวันที่ 20 และ 23 ก.ค. ดังนั้นคณะกรรมการบริษัทจึงประชุมด่วนและมีความเห็นตรงกันว่า เห็นควรปิดกิจการ และเลิกจ้างพนักงาน เพื่อให้พนักงานมีเวลาไปหางานที่อื่นทำ ซึ่งเงินของโรงงานมีเพียง 9 ล้านบาทเท่านั้น แต่จะจ่ายให้พนักงานทุกคนก่อน 50 เปอร์เซ็นต์

-กว่า3พันฮือ-จี้จ่ายชดเชยเต็มจำนวน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังได้ฟังคำชี้แจงจากเจ้าของ พนักงานทุกคนถึงกับอึ้ง โดยส่วนใหญ่ไม่ยอมกับข้อเสนอของทางบริษัท และต้องการเงินสดเต็มจำนวน เพื่อจะนำเงินไปใช้จ่ายในครอบครัว และเป็นเงินทุนในการสมัครงานที่อื่น ส่วนเงินชดเชยนั้น ทางบริษัทจะให้ตัวแทนทั้งพนักงานและตัวแทนบริษัทร่วมกันขายทรัพย์สินของทางบริษัท เพื่อนำมาชดใช้ให้กับพนักงานทุกคน เป็นค่าจ้างและค่าชดเชยต่อไป และในการปิดกิจการในครั้งนี้ ทางบริษัทไม่ได้นำทรัพย์สินของบริษัทออกมาด้านนอกแต่อย่างใด ซึ่งพนักงานทั้งกว่า 3,000 คน ยังคงรวมตัวอยู่ที่โรงอาหาร ไม่ทำงาน จับกลุ่มพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความไม่พอใจ

นางขวัญใจ เอมปรากฎ อายุ 29 ปี หนึ่งในพนักงานกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า มีลูก 2 คน ภาระมากมายทั้งค่านมลูก ค่าเช่าห้อง ผ่อนรถจักรยานยนต์ กลุ้มมาก เงินเก็บก็ไม่มี เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่าโรงงานจะปิด พอโรงงานมีปัญหาครั้งแรกแล้วเปิดกิจการใหม่รู้สึกดีใจมาก คิดว่าจะทำงานที่นี่ไปเรื่อยๆ แต่ก็มาประสบปัญหาแบบนี้ ยังไม่รู้ชะตากรรมว่าจะไปทำงานที่ไหน เงินที่นี่จะได้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้

ด้านน.ส.สุภาพร อุปชาคำ อายุ 26 ปี พนักงานอีกคนกล่าวว่า เจ้าของโรงงานบอกว่าจะจ่ายเงินให้ครึ่งเดียว แต่เงินในธนาคารของโรงงานก็ถูกอายัด บอกว่าในวันรุ่งขึ้นจะให้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะได้หรือเปล่า ส่วนเรื่องหางานใหม่ คิดว่าคงไม่ยากเพราะอายุยังน้อย แต่ขณะนี้ต้องการเงินก่อน รู้สึกแย่มาก

-ผู้ว่าฯเจรจาขายทรัพย์สิน-จ่ายค่าแรง

ต่อมาเวลา 18.00 น. หลังจากกลุ่มพนักงานฟังคำชี้แจงจากเจ้าของโรงงาน ถึงเหตุผลปิดกิจการอีกครั้ง กลุ่มพนักงานทั้งหมดพากันมารวมตัวกันที่บริเวณลานหน้าโรงงาน และใช้เครื่องขยายเสียงเรียกร้องให้ นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลย์ ผวจ.สมุทรปราการ มาเป็นคนกลางเจรจาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หากไม่มาจะชุมนุมปิดถนน ผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง ผวจ.สมุทรปราการ จึงเดินทางมาพบกับกลุ่มคนงาน โดยขอให้ตั้งตัวแทนมาพูดคุยกับทางเจ้าของบริษัท ซึ่งยังคงยืนยันว่ามีเงินอยู่ 9 ล้านบาท พอจ่ายค่าแรงให้พนักงานได้แค่ 1 สัปดาห์ แต่ได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนและยังค้างจ่ายอยู่ 3 สัปดาห์ แต่จะนำทรัพย์สินของบริษัทที่พอจะขายได้ เช่น เสื้อผ้าที่ตัดค้างไว้ คาดว่าจะขายได้ 10 ล้านบาท จะพอจ่ายได้อีก 1 สัปดาห์ ที่เหลือจะขายทรัพย์สินบริษัทอื่น แต่ไม่รู้ว่าจะขายได้เมื่อไหร่

ขณะเดียวกัน ผวจ.สมุทรปราการ เสนอว่าให้ตัวแทนคนงานกับเจ้าของบริษัทอนุญาตให้ทางจังหวัดเข้าตรวจสอบทรัพย์สินที่มีอยู่ทั่วประเทศของเจ้าของบริษัท และให้พนักงานตั้งตัวแทนมาเฝ้าที่บริษัท ไม่ให้ขนย้ายทรัพย์สินออกนอกบริษัท กระทั่งเวลา 21.30 น. การเจรจาเสร็จสิ้น ตัวแทนพนักงานนำข้อเสนอไปแจ้งกับพนักงานที่ปักหลักรออยู่บริเวณลานหน้าโรงงาน และจะนำข้อสรุปของพนักงานส่วนใหญ่มาประชุมกับเจ้าของบริษัท และผวจ.สมุทรปราการ อีกครั้งหนึ่ง

-"โฆสิต"สั่งช่วยเหลือคนงานด่วน

วันเดียวกัน นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงการปิดโรงงานไทยศิลป์ฯ ว่ามอบหมายให้นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รมช.อุตสาหกรรม ประสานกับกระทรวงแรงงาน เพื่อนำแนวทางการช่วยเหลือผู้ตกงานจากการปิดตัวของโรงงาน เสนอในที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวมในวันที่ 23 ก.ค.นี้ ในเบื้องต้นกระทรวงแรงงานจะดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ถูกเลิกจ้างตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งหุ่มปิดกิจการเพิ่มเติม

ด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จะหารือกับนายเดช พัฒนเศรษฐพงค์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งหุ่มไทย เกี่ยวกับแนวทางให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่ถูกเลิกจ้าง และเจ้าของกิจการ โดยอาจนำออร์เดอร์ของบริษัทไทยศิลป์ฯ ไปกระจายให้กับโรงงานอื่นที่มีศักยภาพในการผลิต รวมถึงผู้ถูกเลิกจ้าง เพื่อรักษามูลค่าตลาดรวมของประเทศ

-ชี้เหตุแบงก์ไม่ปล่อยเงินกู้80ล้าน

ที่กระทรวงอุตสาหกรรม นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รมช.อุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีโรงงานไทยศิลป์ฯ ประกาศปิดอีกครั้งว่า ว่า หารือกับสถาบันสิ่งทอ เพื่อรับมือกรณีบริษัทไทยศิลป์ฯ ปิดกิจการอีกครั้ง เกิดจากธนาคารไม่ยอมปล่อยกู้ให้บริษัทตามที่ขอกู้ไว้ 80 ล้านบาท จึงทำให้ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงานในวันที่ 20 ก.ค. ดังนั้นบริษัทนี้ต้องปิดตัวลง กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเงินไว้ให้แล้ว เพื่อช่วยจ่ายชดเชยค่าแรงให้พนักงาน แต่เงินดังกล่าวจะไม่ใช่เงินให้เปล่า เจ้าของบริษัทจะต้องมารับผิดชอบด้วย

รมช.อุตสาหกรรมกล่าวต่อว่า ในเรื่องเงินกู้ของบริษัทไทยศิลป์ฯ ที่ธนาคารไม่ยอมปล่อยกู้ให้นั้น เป็นเรื่องที่บริษัทต้องไปเจรจากับธนาคารเอง รัฐไม่เคยรับปากว่าจะหาเงินกู้ให้ แต่เมื่อโรงงานปิดตัวลง รัฐจะเข้าไปดูแลคนงานให้มีงานทำทั้งหมด ขณะนี้มีคนงานที่ยังเหลือยู่ประมาณ 3,000 คน จากคนงานทั้งหมด 5,000 คน เท่าที่หารือร่วมกับ 4 สมาคมสิ่งทอ คือ สมาคมสิ่งทอ สมาคมฟอกย้อม สมาคมเสื้อผ้าสำเร็จรูป และสมาคมทอผ้า รับปากจะรับคนงานจากบริษัทไทยศิลป์ฯ เข้าทำงานทันทีในวันจันทร์ที่ 23 ก.ค. และจะไม่กดค่าแรง

รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีที่ธนาคารไม่ยอมปล่อยกู้ให้กับโรงงานไทยศิลป์ เกิดจากธนาคารไม่มั่นใจในออร์เดอร์ที่ไทยศิลป์ได้รับจากไนกี้ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทพยายามเจรจากับธนาคารแล้วหลายครั้ง แต่ธนาคารปฏิเสธการปล่อยกู้มาตลอด เพราะไม่มีสมาคม หรือภาครัฐจากหน่วยงานใดมาช่วยรับประกันการกู้เงินให้

-สั่งอุ้มคนงาน-ส่งต่อโรงงานอื่น

ด้านนายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผอ.สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า มีความเป็นห่วงคนงานบริษัทไทยศิลป์ฯ ที่อายุ 40-50 ปี อาจจะมีปัญหาว่าโรงงานอื่นจะไม่รับเข้าทำงาน เพราะอายุมากแล้ว ดังนั้นสถาบันจะรับคนงานที่ยังหางานไม่ได้ทั้งหมด มาอบรมการทำงานด้านอื่นๆ อาทิ งานคุมสต๊อก คุมสโตร์ และจะช่วยประสานไปยังโรงงานต่างๆ เพื่อหางานที่เหมาะสมให้

ส่วนนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ภาครัฐไม่มีนโยบายนำงบฯ สนับสนุนโรงงานไทยศิลป์ฯ แต่อาจมีแนวทางอื่น เช่น เจรจากับเจ้าหนี้ แต่มั่นใจว่าจะไม่มีส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ คือ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ดังนั้น อย่าตกใจเรื่องปัญหาการว่างงานที่จะเกิดขึ้น เพราะปัญหาเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากการรับจ้างผลิตมาสู่อุตสาหกรรม ที่ผู้ผลิตต้องใช้ทักษะเฉพาะ ไม่ใช่ตกงานจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นยังอยู่และสู้ได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาเปลี่ยนผ่านบ้างโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ เคยเตือนผู้ประกอบอุตสาหกรรมสิ่งทอ ให้ปรับปรุงรูปแบบการผลิตจากรับจ้างผลิตอย่างเดียว เป็นหันมาใช้ทักษะออกแบบงานผลิตเป็นของตัวเอง เพื่อพัฒนามูลค่าเพิ่มของสินค้า ให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เพราะเขามีจุดแข็งเรื่องค่าแรงที่ถูกกว่าไทย อาจทำให้เกิดการย้ายฐานผลิตไปประเทศอื่นได้

-รัฐรับ7ข้อเสนอเอกชนแก้ค่าบาท

สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทแข็งของรัฐบาลนั้น ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทว่า ดำเนินการมาเป็นลำดับ ทั้งในส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่รับผิดชอบจะปรับอัตราดอกเบี้ย หมายความว่าทุกภาคส่วนติดตามปัญหาว่าเป็นอย่างไรและควรแก้อย่างไร ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน วันเดียวกันนี้ นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกฯ และรมว.อุตสาหกรรม จะหารือกับรมว.คลัง และธปท. และในช่วงเช้าวันที่ 20 ก.ค. จะหารือกับตนอีกครั้ง

ที่กระทรวงอุตสาหกรรม นายโฆสิต กล่าวภายหลังหารือร่วมกับนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง และนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯธปท. ว่าเห็นตรงกันที่จะรับข้อเสนอของภาคเอกชน 7 ข้อ คือ 1.ให้เอกชนถือครองเงินต่างประเทศไม่มีกำหนดเวลา และจำนวนจากเดิมกำหนด 14 วัน 2.ให้ประชาชนและเอกชนถือครองเงินดอลลาร์ได้มากกว่า 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเปิดบัญชีเงินฝากเป็นเงินดอลลาร์ได้ 3.สามารถชำระค่าใช้จ่ายในรูปดอลลาร์ได้ 4.ให้ภาครัฐเร่งคืนเงินภาษีให้กับผู้ส่งออกทั้ง 19 ทวิ และภาษีมุมน้ำเงิน 5.เร่งรัฐวิสาหกิจคืนหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด 6.ให้ภาครัฐนำเข้าน้ำมันและสินค้าทุนที่จำเป็นสะสมไว้ล่วงหน้า และ 7.เสนอตั้งกองทุนดูแลวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ซึ่งข้อเสนอของเอกชนนั้น รัฐจะให้เป็นส่วนใหญ่ และจะทยอยออกมาตรการต่างๆ ในช่วงสัปดาห์หน้า เพราะบางมาตรการต้องเสนอครม.

-เล็งออกมาตรการเพิ่ม-เข้มทุกวินาที

นายโฆสิตกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการต่างๆ จะนำมาใช้จนกว่าเงินบาทจะมีเสถียรภาพ โดยรัฐบาลพยายามดูแลค่าเงินบาททุกวินาที แต่ต้องยอมรับว่าขณะนี้เกิดปัญหาการเคลื่อนย้ายเงินทุน จึงไม่มียาวิเศษอะไรที่ออกมาแล้ว จะแก้ปัญหาได้จบเพียงครั้งเดียว โดยรัฐรับฟังทุกๆ ข้อเสนอจากนักวิชาการและเอกชน แต่คงจะไม่ใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบสุดโต่ง อาทิ ลดดอกเบี้ยทีเดียว 1.5 เปอร์เซ็นต์ หรือแยกเงินเฟ้อออกจากดอกเบี้ย

ด้านนางธาริษา กล่าวว่า มาตรการที่น่าจะออกในเร็วๆ นี้ คือการเปิดผู้ประกอบการรายย่อย และประชาชนถือครองเงินดอลลาร์ไม่เกิน 100,000 ดอลลาร์ และให้เปิดบัญชีเงินฝากต่างประเทศได้ด้วย มาตรการนี้สอดคล้องกับที่ธปท.จะเสนอกระทรวงการคลัง คาดว่าจะประกาศได้เร็วๆ นี้ พร้อมกันนี้จะผ่อนคลายให้เอกชนเสนอถือครองมากกว่า 200,000 ดอลลาร์ เสนอรมว.คลังไปแล้ว แต่จะเป็นเท่าใดคงต้องให้รมว.คลังเป็นผู้ประกาศ อีกทั้งจะยกเลิกข้อกำหนดถือครองเงินดอลลาร์แค่ 14 วันด้วย และจะหารือกับตลาดหลักทรัพย์ที่จะผ่อนปรนให้นำเงินออกไปซื้อหุ้นในต่างประเทศได้

-ผู้ว่าฯธปท.คาด1เดือนมีเสถียรภาพ

ผู้ว่าฯธปท.กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ และการทำประกันคุ้มครองความเสี่ยงล่วงหน้า ธปท.จะคงไว้ก่อน เพราะจะมีผลต่อจิตวิทยา โดยเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ธปท.เปิดให้ผู้ที่มีถิ่นฐานอยู่ในต่างประเทศ ย้ายการทำประกันความเสี่ยงของธุรกรรมที่ทำไว้ก่อนวันที่ 19 ก.ค. โดยให้เวลาขอจนถึง 16 ส.ค. คาดว่าในอีก 1 เดือนข้างหน้าจะทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ และทำให้ส่วนต่างของค่าเงินในตลาดซื้อขายเงินบาทในต่างประเทศ และตลาดซื้อขายเงินบาทในประเทศ อยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากนัก จากขณะนี้ต่างกัน 3 บาทต่อดอลลาร์ จึงเกิดความกังวลในเรื่องการเก็งกำไร

นางธาริษากล่าวอีกว่า สำหรับการตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพียง 0.25 เปอร์เซ็นต์นั้น ถือเป็นระดับที่เหมาะสม หากลดดอกเบี้ยมากเกินไปจะมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบเหมือนช่วงที่ผ่านมา ที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาต่างๆ นานถึง 2 ปี ดังนั้น จึงเลือกลดอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้มีผลกระทบระยะยาว เพราะหากอัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบจะกระทบต่อการออม ขณะที่จากนี้ไปจะมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ การขยายการลงทุนของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะมีตามมา ดังนั้น จึงต้องการเงินออมเพื่อขยายการลงทุนด้วย

-ตั้งกองทุนช่วย"เอสเอ็มอี"ดอกเบี้ยต่ำ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการปรับตัวธุรกิจรายสาขา ที่มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกฯ และรมว.อุตสาหกรรม เป็นประธานว่า ที่ประชุมรับทราบแนวทางการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ตามที่ภาคเอกชนเสนอ ในรูปแบบการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะสั้น ภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย คาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียด และรูปแบบการดำเนินงานแล้วเสร็จ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม พิจารณาในวันที่ 23 ก.ค.นี้

รองเลขาฯสศช.กล่าวต่อว่า จากรายงานตัวเลขอัตราการว่างงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำปี 2549 พบว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานประมาณ 50,000 คน จากความต้องการแรงงานประมาณ 116,000 คน ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารและอาหารสัตว์ ขาดแคลนแรงงานประมาณ 74,000 คน จากความต้องการแรงงานประมาณ 76,000 คน ทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมที่เป็นห่วงและต้องจับตามองเป็นพิเศษ คือ สิ่งทอ อาหาร และเฟอร์นิเจอร์ ที่มีสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาตีตลาดจำนวนมาก อีกทั้งยังประสบปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลกระทบต่อรายได้และกำไรของผู้ประกอบการที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศลดลง จึงต้องเร่งเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการโดยเร็ว

-สภาอุตฯจี้รัฐอุ้ม100เปอร์เซ็นต์

นายธนิต โสรัตน์ รองเลขาธิการสายงานเศรษฐกิจ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ที่ประชุมมีความเป็นห่วงผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ประสบภาวะขาดทุนจากปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท และพร้อมจะปิดกิจการตัวเองแล้ว ยังต้องมีต้นทุนค่าขนส่งจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นด้วย โดยมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 30-40 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด แต่มีจำนวนผู้ประกอบการสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผู้ส่งออกโดยรวม ส่วนข้อเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้น จะสามารถช่วยเหลือธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ หรือเอสเอ็มอีที่ขาดสภาพคล่องได้มากขึ้น แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยเบื้องต้นภาคเอกชนเห็นว่า ภาครัฐควรให้การสนับสนุน 100 เปอร์เซ็นต์ วงเงินประเดิมอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท

รองเลขาฯส.อ.ท.กล่าวต่อว่า อีกทั้งมีข้อเสนอในที่ประชุมให้จัดตั้งกองทุนฯ วงเงิน 500 ล้านบาท โดยระดมเงินจากภาครัฐ 90 เปอร์เซ็นต์ และธนาคารพาณิชย์ 10 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือสนับสนุนธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน แต่เราเห็นว่าถ้าให้ธนาคารพาณิชย์ในฐานะผู้ปล่อยกู้เป็นคนใส่เงินเอง ธนาคารพาณิชย์อาจคิดว่ามีความเสี่ยงในการปล่อยกู้ จนทำให้การปล่อยกู้ยากขึ้น เพราะต่อให้ทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ก็ตาม แต่ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยกู้ก็ไม่มีประโยชน์ และส่วนตัวมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมสำหรับกองทุนนี้น่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์

-สนช.ถกญัตติแรงงาน-ค่าบาท

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยพิจารณาญัตติ เรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ส่งออก และแรงงานจากผลของค่าเงินบาทที่แข็งค่าผิดปกติ ซึ่งเป็นญัตติของ ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ สนช. โดย ว่าที่ร.อ.จิตร์ อภิปรายว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกินกว่าร้อยละ 7 ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่อยากเสนอต่อรัฐบาล 5 ข้อคือ 1.กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนโดยมีนโยบายที่เหมาะสม ผู้ส่งออกจะได้ใช้เป็นฐานในการเจรจาขายสินค้า 2.ยืดระยะเวลาถือครองเงินตราต่างประเทศจาก 14 วัน เป็นมากกว่า หรือปล่อยให้ฝากเงินในรูปเงินสหรัฐ

ว่าที่ร.อ.จิตร์กล่าวต่อว่า 3.เร่งแก้ปัญหาป้องกันเงินเก็งกำไรไหลเข้า โดยวิธีการสวอปเงินล่วงหน้า ด้วยระบบฟูลลี่เฮดจ์ 4.รัฐต้องให้การสนับสนุนผู้ส่งออกสั่งซื้อเครื่องจักร เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ หรือซื้อวัตถุดิบสต๊อกไว้ล่วงหน้า โดยจัดหาแหล่งเงินกู้ต้นทุนต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย และ 5.การถือครองเงินทุนสำรองของประเทศ ควรเปลี่ยนเป็นทองคำแทนเงินดอลลาร์ แต่วิธีนี้อาจเกิดความเสี่ยงหากบริหารไม่ดีอาจจะเจ๊งได้ ดังนั้นธปท.อาจเปลี่ยนไปถือเงินเยนแทนเงินดอลลาร์ ที่นับวันจะอ่อนค่าลง หรือนำไปลงทุนในต่างประเทศ หรือนำมาลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ อยากให้รัฐบาลและธปท.พิจารณาให้รอบคอบและทันสถานการณ์

-แนะเลียนจีนแก้เกมสหรัฐเก็งค่าเงิน

ขณะที่นายณรงค์ โชควัฒนา สนช. กล่าวว่า ปัจจุบันสหรัฐกลายเป็นลูกหนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากใช้นโนบายการขาดดุลการค้า ทำให้กองทุนป้องกันความเสี่ยง หรือเฮดจ์ฟันด์ เข้าไปเก็งกำไรค่าเงินยูโร แต่เมื่อขาดทุนจึงเปลี่ยนไปเป็นเก็งกำไรสกุลเงินเอเชีย โดยก่อนหน้านี้เฮดจ์

ฟันด์เข้าไปเก็งกำไรค่าเงินหยวน แต่จีนไม่ยอม จึงพิมพ์ธนบัตรแข่ง จนทำให้จีนมีเงินทุนสำรองเงินดอลลาร์มากที่สุดในโลก จากนั้นจีนเอาดอลลาร์ไปซื้อทรัพยากรต่างประเทศ เช่น น้ำมัน เหมืองยูเรเนียม ท่าเรือ ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด ปัญหาของประเทศไทยก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน มีคนบอกว่าปัญหาค่าเงินบาทแข็งเป็นวิกฤต แต่ถือว่าเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะมีเงินดอลลาร์ โดยใช้วิธีการเช่นเดียวกับประเทศจีนจัดการกับกองทุนเฮดจ์ฟันด์ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซง และโอกาสอย่างนี้ 100 ปีจะมีครั้งเดียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สมาชิกอภิปรายกันนานกว่า 2 ชั่วโมง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธาน กล่าวว่าการอภิปรายส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่าเงินบาท ในขณะที่ญัตติเสนอเป็นเรื่องผลกระทบของผู้ส่งออก และผู้ใช้แรงงาน รัฐบาลจึงส่งรมว.และรมช.แรงงานมาชี้แจง แต่ไม่สามารถตอบข้อซักถามสมาชิกได้ อย่างไรก็ตาม สมาชิกสามารถเข้าชื่อกัน 100 คน เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่มีการลงมติ ให้รัฐมนตรีมาชี้แจงในเรื่องนี้ได้ วันนี้ถือว่าเป็นการซ้อมใหญ่ก็แล้วกัน