Thai / English

จับตา 200 รง.ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเมืองชล ก.แรงงานเผยกำลังเจอพิษบาทแข็ง


ผู้จัดการ
16 .. 50
ผู้จัดการ

แรงงานจับตาสถานประกอบกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ากว่า 200 แห่งในชลบุรี เผยกำลังประสบปัญหาจากเงินบาทที่แข็งและการเปิดตลาดในจีน-เวียดนาม ระบุแต่ละแห่งมีคนงานกว่า 2,000 คน เช่นเดียวกับโรงงานผลิตอุปกรณ์เสื้อผ้าและรองเท้ากีฬาให้กับบริษัทแบรนด์เนมดังที่ถูกลดโควตาการสั่งผลิตจากสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 68 ขณะที่ไทยศิลป์นายจ้างยังหาแหล่งเงินกู้ไม่ได้

วันนี้(16 ก.ค.) เวลา 11.00 น. นายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เดินทางตรวจเยี่ยมบริษัทไทยศิลป์อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด หลังเปิดกิจการรับลูกจ้างเข้าทำงานอีกครั้ง พร้อมหารือกับนายพิพรรษ และนางเยาวลักษณ์ อุนโอภาส เจ้าของบริษัทฯ สอบถามสภาพคล่องและการเตรียมพร้อมในการจ่ายเงินค่าจ้างแก่ลูกจ้าง ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ โดยมีเจ้าหน้าที่แรงงานทั้ง 5 ด้านของจังหวัดสมุทรปราการ เข้าร่วมประชุม

นายอภัย กล่าวว่า ทราบจากนายจ้างว่าอยู่ระหว่างการหาแหล่งเงินกู้เพื่อให้บริษัทมีสภาพคล่อง และมีเงินที่จะจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้าง โดยกรณีนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงและติดตามข้อมูลตลอด ดังนั้น จึงมาเจรจากับนายจ้างล่วงหน้าเพื่อหาทางช่วยเหลือ

สำหรับยอดรวมคนงานที่กลับเข้าทำงาน จากเดิม 4,426 คน ลาออกไป 164 คน ซึ่งในจำนวนที่ลาออก ร้อยละ 70 เป็นคนงานที่อายุงานไม่ถึง 119 วัน นอกจากนี้ มีแรงงานอีก 635 คน ยังไม่เข้าทำงาน ทั้งนี้ นายจ้างบริษัทไทยศิลป์ฯ อยู่ระหว่างเร่งหาเงินกู้และบริหารจัดการเก็บหนี้จากผู้สั่งสินค้าไป เพื่อหาเงินมาจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ในวันที่ 20 ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม จัดหางานจังหวัดสมุทรปราการ รายงานว่า มีตำแหน่งงานในจังหวัดสมุทรปราการ จาก 57 บริษัท กว่า 5,200 ตำแหน่ง รองรับลูกจ้างที่ต้องการงานใหม่ได้

ด้านนางเยาวลักษณ์ กล่าวยอมรับว่า ถึงวันนี้ยังไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้ โรงงานไทยศิลป์ฯ ยังขาดสภาพคล่อง และไม่มีเงินที่จะจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้าง แต่พรุ่งนี้ (17 ก.ค.) จะลองไปติดต่อธนาคารกสิกรไทย เพื่อขอกู้เงินมาเพื่อทำกิจการต่อไป แต่หากยังไม่ได้เงินกู้อีก ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร และยังตอบไม่ได้ว่าจะต้องหยุดกิจการอีกหรือไม่

ขณะที่นางอวยพร นครรัตน์ และนางกาญจนา โพธิศรี ลูกจ้างบริษัทไทยศิลป์ฯ กล่าวว่า กลุ่มลูกจ้างที่อยู่มานานไม่อยากให้โรงงานต้องปิดกิจการ และกำลังหารือเพื่อหาทางประหยัดและเร่งกำลังผลิต เพื่อให้โรงงานอยู่ได้ เพราะลูกจ้างก็ไม่อยากไปทำงานที่อื่น โดยเฉพาะหลายคนอายุมากแล้ว ไปสมัครที่อื่นก็ยาก

**เสนอนายกฯ ตั้งกก.แก้เลิกจ้าง

นายอภัย กล่าวอีกว่า ในการประชุมเจ้าหน้าที่แรงงานทุกจังหวัด ทั้งแรงงานจังหวัด สวัสดิการสังคมฯ จัดหางาน ประกันสังคม พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด จะมอบหมายให้นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงาน สั่งกำชับให้ทุกจังหวัดติดตามสถานประกอบการกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด โดยผู้บริหารกระทรวงจะเดินสายกันไปพบกับสถานประกอบการในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อทำความเข้าใจว่า หากมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ขอให้ปรึกษากระทรวงแรงงานก่อน อย่าเลิกจ้างกะทันหัน ซึ่งตนจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมลำปางและลำพูน ในวันที่ 19 ก.ค.นี้

ทั้งนี้ ตนได้มีหนังสือรายงานสถานการณ์แรงงานต่อนายกรัฐมนตรี และเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ขึ้นมาดูแลป้องกันและแก้ไขปัญหาการเลิกจ้าง โดยให้มีกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน เป็นต้น ซึ่งจะมีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้ (17 ก.ค.)

**เคลียร์สยามอาซาฮีจบ

นายอภัย กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีบริษัท สยามอาซาฮี เทคโน กราส จำกัด ซึ่งจะปิดกิจการในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ได้รับรายงานว่า เนื่องจากสินค้าซึ่งเป็นจอภาพโทรทัศน์แบบเก่าหมดความนิยม จึงต้องเลิกกิจการ ส่วนค่าชดเชย บริษัทจ่ายให้สูงกว่าฐานของค่าจ้าง โดยคำนวณให้จากค่าจ้างบวกสวัสดิการ ซึ่งลูกจ้าง 1,100 คน ก็พอใจ จึงไม่มีปัญหา และทราบว่าได้ทยอยจ่ายให้กับลูกจ้างแล้ว เป็นเงินค่าชดเชยประมาณ 220 ล้านบาท

ต่อข้อถามว่า กรณีโรงงานไทยศิลป์ฯ จะเป็นแบบอย่างให้โรงงานอื่นใช้ลูกจ้างต่อรองเพื่อขอกู้เงินจากธนาคาร หรือเป็นการช่วยให้นายจ้างล้มบนฟูกหรือไม่ นายอภัย กล่าวว่า กระทรวงแรงงานช่วยได้แค่ให้นายจ้างหาทางออกให้คนงานมีงานทำต่อไป ส่วนเบื้องลึกว่านายจ้างจะซ่อนเงื่อนอะไรไว้หรือไม่ เป็นหน้าที่กระทรวงการคลังต้องไปคลี่ดู

ขณะที่ปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งจะเป็นประธานในการประชุมเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดทั่วประเทศวันนี้ กล่าวว่า จะมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ทุกจังหวัดทำแผนเฝ้าระวังการเลิกกิจการในแต่ละพื้นที่ และเตรียมรับมือ พร้อมรายงานข้อมูลและเสนอแผนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบข้อมูล นอกจากนี้ ตนเป็นประธานคณะกรรมการประกันสังคม ซึ่งจะมีวาระการหารือเรื่องลดเงินสมทบของนายจ้างตามที่มีการเรียกร้องจากนายจ้างในช่วงนี้

**ยันรง.สับปะรดไม่เกี่ยวเงินบาท

สำหรับกรณีกลุ่มโรงงานสับปะรด ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีรายงานว่า ได้รับผลกระทบขาดทุนอย่างหนักจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้น และบางแห่งอาจขอปิดกิจการชั่วคราว นายอภัย กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยืนยันว่าไม่มีปัญหา แต่ผลกระทบใหญ่เกิดจากเรื่องโรคใบเหี่ยวในสับปะรดที่ทำให้ผลผลิตตกต่ำ และไม่ได้ราคา ขณะนี้ กระทรวงเกษตรฯ ก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล้ว และในส่วนเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็เฝ้าระวังอยู่

**จับตา 200 โรงงานในชลบุรี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า มีรายงานถึงสถานการณ์กลุ่มเสี่ยงที่อาจมีการเลิกกิจการของสถานประกอบการรายใหญ่ที่กระทรวงแรงงานติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ โรงงานผลิตรองเท้า ย่านบางบอน ซึ่งมีลูกจ้างประมาณ 3,500 คน ส่วนพื้นที่จังหวัดชลบุรี กำลังจับตาสถานประกอบกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีกว่า 200 แห่ง โดยแต่ละแห่งมีคนงานกว่า 2,000 คน ซึ่งเจ้าของสถานประกอบการระบุว่า กำลังได้รับผลกระทบประสบปัญหาจากค่าเงินบาทที่แข็งตัว และการเปิดตลาดในจีนและเวียดนาม

นอกจากนี้ ในพื้นที่ชลบุรียังมีโรงงานผลิตอุปกรณ์เสื้อผ้าและรองเท้ากีฬาให้กับบริษัทแบรนด์เนมดัง โดยมีบริษัทใหญ่ 1 แห่ง และบริษัทลูกอีก 5 แห่ง มีคนงานรวม 6,000 คน พบว่า โควตาการสั่งผลิตจากสหรัฐปีนี้ลดลงถึงร้อยละ 68 ซึ่งเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดจะเรียกผู้บริหารบริษัทดังกล่าวมาพูดคุยถึงข้อมูลประกอบการและสภาพคล่องของบริษัทในวันศุกร์ที่ 20 ก.ค.นี้