Thai / English

พิษบาทแข็งปิด"รง."ฟ้าแลบ ลอยแพ5พันคน รมต.แรงงานสั่งเช็คยอดเจ๊ง


มติชน
12 .. 50
เครือมติชน

ธปท.แจงยุ่นเพิ่มทุนสำรองช่วย ไม่มีนัยสำคัญไทยเกิดวิกฤตศก. ค่าเงินยังโป๊ก-คาดสูญภาษีพันล.

พิษบาทแข็ง โรงงานผลิตเสื้อผ้าส่งออกเจ๊ง ปิดฟ้าแลบ คนงานกว่า 5,000 คน ถูกลอยแพไม่รู้ตัว ประท้วงปิดถนนย่านบางพลี รมว.แรงงานหวั่นอีกหลายแห่งทยอยปิดตาม รมว.แรงงานสั่งสำรวจ เพื่อหาทางช่วยเหลือ ผู้ว่า การ ธปท.แจงข้อตกลงไทย-ญี่ปุ่นไม่มีนัยสำคัญจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ คลังเผยค่าบาทแข็งทำให้รายได้รัฐหด 1,000 ล้าน

@ รง.ผลิตเสื้อยี่ห้อดังเลิกจ้างกะทันหัน

โรงงานผลิตเสื้อผ้าส่งออกย่านบางพลี ปิดตัวเองอย่างกะทันหัน ทำให้พนักงานกว่า 5,000 คน ต้องตกงานโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว และรวมตัวกันประท้วงเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย โดยผู้ว่าราชการ จ.สมุทรปราการ คาดว่าอาจเป็นผลมาจากขาดทุนเนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และอาจมีโรงงานอีกหลายแห่งต้องปิดตัวตามด้วย

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 11 กรกฎาคม คนงานบริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด ซึ่งรับจ้างผลิตเสื้อผ้ายี่ห้อดัง อาทิ ไนกี้, อดิดาส และโคลัมเบีย ตั้งอยู่เลขที่ 79 หมู่ 14 ถนนกิ่งแก้ว ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ กว่า 3,000 คน ได้รวมตัวที่หน้าบริษัท และปิดถนนสายกิ่งแก้ว-บางพลี ทั้งขาเข้าและขาออก บริเวณปากซอยกิ่งแก้ว 33 ต.ราชาเทวะ เพื่อประท้วงที่บริษัทประกาศเลิกจ้างกะทันหัน ทำให้พนักงานกว่า 5,000 คน ถูกลอยแพโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวขณะที่การจราจรบริเวณดังกล่าวติดขัดอย่างหนัก

@ พนักงานมึน-ร่ำไห้ถูกลอยแพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คนงานที่ร่วมกลุ่มประท้วงต่างสับสนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางคนถึงกับร้องไห้เสียใจ เศร้าซึมไปตามๆ กัน

น.ส.วันทานี สัมนา พนักงานบริษัทไทยศิลป์ฯ อายุ 29 ปี กล่าวว่า คนงานที่มาปิดถนนเนื่องจากไม่พอใจที่นายจ้างปิดกิจการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทั้งนี้ เมื่อเช้าวันเดียวกันนี้ คนงานเดินทางไปทำงานตามปกติ แต่เมื่อถึงหน้าโรงงานได้ทราบว่า เจ้าของสั่งปิดกิจการแล้วจึงนัดรวมตัวกันประท้วง

น.ส.วันทานีกล่าวว่า บริษัทมีพนักงานราว 5,000 คน แบ่งเป็นสองกะ โดยกะเช้าเข้าทำงาน 08.00-17.00 น. อีกกะเข้าทำงานตั้งแต่ 20.00-05.00 น.

"เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ไปทำงานตามปกติในกะเช้า ต่อมาพนักงานกะดึกเข้าทำงานปรากฏว่า เจ้าของโรงงานแจ้งว่า ยกเลิกการทำงานเนื่องจากปรับปรุงระบบไฟฟ้าโรงงาน พนักงานกะดึกจึงแยกย้ายกันกลับ แต่พอมาถึงกะเช้าปรากฏว่าโรงงานประกาศเลิกจ้างแล้ว" น.ส.วันทานีกล่าว

@ ร้องจ่ายเงินชดเชย-ให้หางานใหม่

นายชุลี กองยุทธิ์ แกนนำเครือข่ายแรงงาน บริษัท ไทยศิลป์ฯ กล่าวว่า บริษัทได้ติดป้ายเลิกจ้างเมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. วันเดียวกัน โดยไม่ได้แจ้งให้พนังงานทราบล่วงหน้า คนงานจึงชุมนุมประท้วงการเลิกจ้าง พร้อมเรียกร้องเงินค่าชดเชย และสวัสดิการต่างๆ

นายบุญลือ ยอดบุญ ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท ไทยศิลป์ฯ กล่าวว่า เพิ่งทราบว่ามีการเลิกจ้างช่วงเช้า อย่างไรก็ตาม ในฐานะลูกจ้างก็ต้องต่อสู้ให้ถึงที่สุดตามสิทธิที่มี

"ตอนนี้ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะทุกคนหาเช้ากินค่ำ หลายคนอายุมาก และอาศัยอยู่ที่นี่ จึงขอให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงินค่าชดเชย ค่าจ้าง เงินช่วยเหลือกรณีตกงาน เงินสงเคราะห์ลูกจ้าง และช่วยดูแลให้มีงานทำ" นายบุญลือกล่าว

@ ผู้ว่าฯปากน้ำคาดเจอพิษบาทแข็ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมนายนิพนธ์ เลิศศรีสุวัฒนา นายอำเภอบางพลี เดินทางไปสังเกตการณ์กลุ่มผู้ประท้วง

นายอนุวัฒน์กล่าวว่า สาเหตุการปิดโรงงานครั้งนี้น่าจะเกิดจากค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโรงงานรับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทต่างประเทศ เมื่อค่าเงินบาทแข็งมาก ทำให้ขาดทุน จึงหยุดกิจการโดยไม่แจ้งให้พนักงานทราบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ประท้วงหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ และยินยอมจะเปิดถนนให้รถยนต์วิ่งผ่านไปมาได้ พร้อมกับจะเดินขบวนไปยังศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ ในวันที่ 12กรกฎาคม เพื่อเจรจากับนางเยาวลักษณ์ อุ่นโอภาส เจ้าของโรงงานไทยศิลป์ ในเวลา 10.00 น.

@ หวั่นรง.อีกหลายแห่งปิดตาม

ขณะที่นายศักดา เชษฐเจริญนิรันดร์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถติดต่อเจ้าของโรงงานเพื่อเจรจาใดๆ ได้ แต่เบื้องต้น กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมจะนำเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่มีอยู่ประมาณ 200 ล้านบาท มาจ่ายชดเชยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคนงานเป็นระยะเวลา 1-2 เดือนไปก่อน แต่คนงานต้องมายื่นคำร้องขอรับค่าชดเชย ซึ่งขั้นตอนในการขอนั้นจะใช้เวลา 90 วัน

"สถานการณ์การเลิกจ้างของโรงงานใน จ.สมุทรปรา การ มีแนวโน้มเลิกจ้างตามมาอีกหลายแห่ง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น" นายศักดากล่าว

@ รมว.แรงงานสั่งสำรวจรง.ส่อเค้าปิด

นายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่แรงงานสัมพันธ์ลงไปไกล่เกลี่ย พร้อมสั่งให้ติดต่อให้นายจ้างมาเจรจาและจ่ายค่าชดเชย

นายอภัยกล่าวว่า สาเหตุที่บริษัทปิดกิจการเพราะถูกตัดยอดการส่งออกสินค้า และมีหนี้สินจนธนาคารไม่ปล่อยกู้ให้อีก จากการประเมินตามอายุงาน บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง จำนวน 150 ล้านบาท หากบริษัทไม่ยอมจ่ายจะต้องถูกดำเนินคดี

"นอกจากนี้ ได้ประสานสำนักงานประกันสังคมจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างร้อยละ 50 ของค่าจ้างเป็นเวลา 6 เดือน รวมทั้งให้จัดหางานจังหวัดสมุทรปราการหางานในพื้นที่ใกล้เคียงให้กับผู้ที่ถูกเลิกจ้าง พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจโรงงานที่มีแนวโน้มปิดกิจการ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือต่อไป" นายอภัยกล่าว

@ แบงก์เจ้าหนี้ยันเจ๊งเพราะค่าบาท

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท ไทยศิลป์ฯ เปิดเผยว่า ธนาคารจะต้องเข้าไปดูแลว่าจะสามารถปรับโครงสร้างทางการเงินของลูกหนี้รายนี้ได้อย่างไร และทางโรงงานจะผลิตต่อไปได้หรือไม่

"การปิดกิจการของบริษัทเกิดขึ้นเพราะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้เกิดปัญหาขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะนี้ทราบเพียงข้อมูลเบื้องต้นว่าบริษัทปิดกิจการเท่านั้นและคงดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทดังกล่าวไม่เคยมีการผิดนัดชำระหนี้ในระดับที่สูงมากนัก และยังมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาตามปกติ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวเป็นลูกหนี้ของธนาคาร 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา

@ เผยงบฯบริษัทปี"48ยังมีกำไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบบริคณห์สนธิของบริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์อิมปอร์ต เอ็กซ์ปอร์ต จำกัด พบว่าจดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2523 ทำธุรกิจผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมีนางเยาวลักษณ์ อุนโอภาส และนายพิพรรษ อุนโอภาส เป็นผู้มีอำนาจลงนาม

ส่วนฐานะการเงินของบริษัท ไทยศิลป์ฯ ณ สิ้นปี 2548 บริษัทมีรายได้รวม 1,612 ล้านบาท มีรายจ่าย 1,597 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 14.94 ล้านบาท หรือมีกำไรต่อหุ้น 13.59 บาท

@ ผู้ส่งออกไม่เชื่อธปท.-บาทแข็งไม่หยุด

ส่วนความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันที่ 11 กรกฎาคม นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์รายหนึ่งเปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในตลาดภายในประเทศ (ออนชอร์) เปิดตลาดที่ระดับ 33.41-33.43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 33.34-33.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยแข็งสุดระหว่างวันที่ระดับ 33.16 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนตลาดต่างประเทศ (ออฟชอร์) เมื่อเวลา 17.30 น. อยู่ที่ระดับ 30.65-30.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเกิดจากผู้ส่งออกขาดความศรัทธาและความมั่นใจเกี่ยวกับแนวทางการดูแลค่าเงินของ ธปท. โดยมาตรการเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ที่ออกมาเพื่อปิดช่องว่างระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดต่างประเทศ (ออฟชอร์) และตลาดภายในประเทศ (ออนชอร์) ไม่ค่อยมีผลชัดเจนทำให้เกิดการเทขายดอลลาร์สหรัฐออกมา ขณะที่ยังมีเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์มาช่วยเร่งให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว

ทั้งนี้ ธปท.ควรจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมคือ 3.0% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินไปจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

@ ตลาดหุ้นเริ่มอ่อนแรงลด12จุด

สำหรับบรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ดัชนีเปิดซื้อขายที่ระดับ 851 จุด ลดลง 7.45 จุด คาดว่าเป็นการปรับฐานของดัชนีหลังจากที่ตลาดปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันมาหลายวัน โดยดัชนีขึ้นไปสูงสุดของวันที่ 861.28 จุด ลดลง 2.56 จุด ก่อนจะค่อยๆ อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ลงมาปิดการซื้อขายในระดับต่ำสุดของวันที่ 846.28 จุด ลดลง 12.17 จุด มูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้น 34,402.59 ล้านบาท

นางสาวสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์ เคทีบี จำกัด กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลงของตลาดหุ้นต่างประเทศ ทำให้ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน ประกอบกับมีแรงเทขายทำกำไรออกมาหลังจากที่ดัชนีปรับขึ้นแรงติดต่อกันหลายวันทำการ ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวลดลง

@ "สุรยุทธ์"มั่นใจไม่เกิดวิกฤตศก.

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ได้รายงานมา คิดว่าอยู่ในขีดที่สามารถดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนได้ ถ้ามีปัญหาทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะโทรศัพท์ติดต่อมา แต่ขณะนี้ยังไม่มีอะไร ทั้งนี้ คงต้องระมัดระวังการไหลเข้ามาและการถ่ายออกไปของเงิน ถ้ามันไม่เร็วเกินไปก็ไม่มีผลกระทบ สิ่งที่ได้รับทราบจากผู้ว่าการ ธปท.คือ ผู้ส่งออกของเราเทขายเงินสกุลดอลลาร์ออกมามาก และขายล่วงหน้าด้วย ถือเป็นการซ้ำเติมผู้ส่งออกด้วยกันเอง คิดว่าคงต้องช่วยกันดูตรงนี้

เมื่อถามว่า เกรงว่าจะเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจอีกหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า เท่าที่ฟังจาก ธปท.แล้ว เรามีมาตรการหลายอย่าง ซึ่งจะไม่ส่งผลทำให้เกิดวิกฤตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

@ ยังไม่ใช้เงินทุนสำรองมาช่วย

พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ส่วนการที่ญี่ปุ่น ให้การสนับสนุนเงินทุนสำรองให้แก่ไทย ถือเป็นมาตรการใหม่ที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เป็นการร่วมมือของตลาดเงินในเอเชีย

เมื่อถามว่า เป็นเพราะญี่ปุ่นกังวลว่าจะเกิดวิกฤต พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ในญี่ปุ่นก็มีลักษณะเดียวกันคือ มีเงินดอลลาร์ไหลมาลงทุน รวมทั้งจีนและเวียดนาม แต่จีนและเวียดนามตลาดเงินไม่เปิดเสรีเหมือนไทย ดังนั้น ไทยและญี่ปุ่นต้องมีความร่วมมือ เมื่อถามว่า จำเป็นต้องนำเงินทุนสำรองมาใช้แก้ปัญหาหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า คงไม่จำเป็น

@ ผู้ว่าการ ธปท.แจงความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น

ด้านนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงกรณีทางการไทยและญี่ปุ่นกำลังจะมีการลงนามความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น ฉบับที่ 3 ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้มีนัยสำคัญที่บอกว่าประเทศไทยกำลังจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือค่าเงินบาทแข็งค่าจนกลายเป็นปัญหา เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาต่อเนื่องจากฉบับเก่าที่เพิ่งหมดอายุไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งสัญญามีลักษณะของการตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศเกิดปัญหา

"ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการให้วงเงินสินเชื่อล่วงหน้า (เครดิตไลน์) ซึ่งสัญญาเดิมเขาให้เรา 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สัญญาใหม่เขาเพิ่มเครดิตไลน์เป็น 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เราไม่ได้เป็นฝ่ายขอแต่เขาให้เราเอง ถ้าญี่ปุ่นเขามองเศรษฐกิจเรามีปัญหาหรือรู้สึกไม่มั่นใจ เขาคงไม่ให้เครดิตไลน์เราเพิ่มขึ้น แต่นี่เป็นเพราะเขามั่นใจและปรารถนาดีต่อกัน หากคู่สัญญามีปัญหาคงไม่มีใครที่ไหนที่จะมาเพิ่มเครดิตไลน์ให้แบบนี้" นางธาริษากล่าว

@ ปัดดันค่าเงิน36บ./ดอลล์ช่วยส่งออก

นางธาริษากล่าวว่า ธปท.มีนโยบายที่จะเข้าไปดูแลค่าเงินบาทในกรณีที่มีการเคลื่อนไหวอย่างผันผวนอยู่แล้ว แต่จะให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามที่ผู้ส่งออกต้องการคงเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าไทยจะมีเงินตราต่างประเทศจำนวนมากในตอนนี้ก็ต้องถามว่าควรหรือไม่ที่จะไปยันค่าเงินบาทไว้แบบนั้น ขณะเดียวกันผู้ส่งออกควรต้องปรับตัว ทางออกหนึ่งคือ การลงทุนซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

"เงินที่เข้ามาในตลาดหุ้นอย่างรุนแรงเช่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคิดว่าเป็นสถานการณ์ชั่วคราว ซึ่งถึงจุดหนึ่งแล้วตลาดคงจะมีการปรับตัว ส่วนผู้ส่งออกก็มีความเข้าใจมากขึ้น มีการนำดอลลาร์ออกขายในระดับปกติเท่านั้น โดยเงินบาทที่ยังแข็งค่าในวันนี้ (11 กรกฎาคม) เป็นแรงกดดันจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น" นางธาริษากล่าว

@ กำชับแบงก์เข้มงวดรับซื้อเงินล่วงหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งหนังสือถึงผู้ประสานงานสถาบันการเงินเพื่อกำชับและซักซ้อมความเข้าใจเรื่องการรับซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า โดยมีสาระสำคัญระบุว่า ในระยะที่ผ่านมาปรากฏว่ามีผู้ส่งออกคาดการณ์ทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนและเร่งขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินบาท

ดังนั้น ธปท.ขอกำชับให้สถาบันการเงินระมัดระวังและดูแลการให้การซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดให้สถาบันการเงินเรียกหลักฐานที่จำเป็นเพื่อพิจารณาว่าลูกค้ามีแหล่งเงินได้เงินตราต่างประเทศในอนาคตที่ชัดเจนก่อนสถาบันการเงินจะรับทำธุรกรรม เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำเงินตราต่างประเทศส่งมอบตามสัญญาที่ทำไว้

ทั้งนี้ หากลูกค้าไม่สามารถนำเงินตราต่างประเทศส่งมอบได้ตามสัญญาต้องให้ลูกค้าชี้แจงเหตุผลที่เพียงพอ และสถาบันการเงินต้องดูแลไม่ให้การทำธุรกรรมของลูกค้ามีลักษณะเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท

@ บาทแข็งส่งผลรายได้รัฐหดพันล้าน

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรีกษาด้านการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผลกระทบของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น จะส่งผลกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล เนื่องจากช่วงที่ทำประมาณการรายได้นั้นตั้งสมมติฐานว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ แต่ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าระดับที่ประมาณการมาตลอด และปัจจุบันแข็งค่าไปถึง 33 บาทแล้ว

"คาดว่าจะทำให้มีผลกระทบให้รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าลดลงประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับภาพรวมของรายได้" นายสมชัยกล่าว

@ ส.อ.ท.เตรียมชง3มาตรการให้นายกฯ

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 กรกฎาคม ส.อ.ท.จะประชุมร่วมกับหอการค้าไทยถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก เพื่อร่วมกันหามาตรการแก้ไขปัญหาเป็นการชั่วคราว เสนอ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายสันติกล่าวว่า ที่จะเสนอเบื้องต้นมี 3 มาตรการ คือ 1.ส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดหุ้น เช่น ในสิงคโปร์ และฮ่องกง 2.ให้ ธปท.อนุญาตให้คนไทยฝากเงินดอลลาร์ในต่างประเทศได้ แต่ต้องแจ้งให้ ธปท.ทราบ เพื่อเปิดโอกาสนักลงทุนไปฝากเงินและรับดอกเบี้ยต่างประเทศ 3.ให้ ธปท.เปิดบริการรับฝากเงินดอลลาร์ให้กับผู้ส่งออก โดยอาจให้ดอกเบี้ยบ้าง เพื่อเปิดทางเลือกให้ผู้ประกอบการเอาเงินมาฝากแทนที่จะแลกเป็นเงินบาท เพราะการที่ผู้ส่งออกเทขายดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ธปท.กำหนดเวลาในการถือเงินดอลลาร์สั้นมากเพียง 3-7 วัน ถ้าเป็นไปได้ก็ควรขยายเวลาตรงนี้ด้วย

"อยากให้เป็นมาตรการแรงๆ จะได้ช่วยชะลอการ แข็งค่าของเงินบาทได้ เช่น การเก็บภาษีการซื้อขายหุ้น แต่มันจะกระทบหนักต่อตลาด เชื่อว่า ธปท.คงไม่ทำ" นายสันติกล่าว

@ สินค้าส่งออก5กลุ่มเจ๊งหนัก

นายสมมาต ขุนเศรษฐ รองเลขาธิการ (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ส่งออกสินค้าใน 5 อุตสาหกรรม คือ รองเท้า อัญมณี สิ่งทอ ยาง และอาหารกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ในเบื้องต้นกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้าสูญเสียมูลค่าส่งออกจากพิษบาทแข็งในปีนี้ไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมยางสูญเสียไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาท เร็วๆ นี้ ทั้ง 5 กลุ่มจะมีการประชุมเพื่อประเมินภาพรวมทั้ง 5 อุตสาหกรรมอีกครั้ง (อ่านรายละเอียด น.20)

นายสุชาติ จันทรานาคราช ประธานสภาผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลแห่งประเทศไทยไทย (สรท.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลสมาชิกของ สรท.ที่เป็นผู้ส่งออกกว่า 2.7 พันราย มีมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 37% ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งประเทศ เห็นว่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไปอีก ซึ่งภาครัฐควรแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน จากการหารือกับสมาชิกเห็นว่าอัตราที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 36-37 บาท/เหรียญสหรัฐ