Thai / English

กรรมกรเฮปรับค่าจ้าง 7 บ.


ผู้จัดการ
08 .. 50
ผู้จัดการ

นายอภัย จันทนจุลกะ รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ภาย หลัง ครม.เห็นชอบให้ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 4% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่กระทรวงแรงงานจะมีการประกาศในแต่ละปีและปีนี้ก็ได้เร่งรัดให้มีการประชุมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการค่าจ้างกลางชุดใหม่แทนที่ชุดเดิมที่ หมดวาระไปให้เข้าพิจารณาตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะอนุกรรมการจังหวัดทยอยส่ง ตัวเลขเข้ามาให้ทันประกาศใช้ควบคู่ไปกับการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการภายในเดือน ต.ค.นี้

นายประเทือง แสงสังข์ อดีตคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวว่า ขณะนี้บอร์ดค่าจ้างกลางที่หมดวาระไปแล้วนั้นได้มีการหารือกันว่าจะเสนอให้กระทรวงเร่งรัดการคัดเลือก บอร์ดชุดใหม่ภายในวันที่ 8 ก.ค.เพื่อปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้ทันกลางเดือนปีนี้หรืออย่างช้า ในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานที่ประสบปัญหาค่าครองชีพที่สูง ขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลประกาศขึ้นเงินเดือนข้าราชการทำให้สินค้าหลายรายการจ่อ ที่จะขึ้นราคา และคาดว่าตัวเลขการปรับขึ้นค่ากลางปีนี้ไม่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาคือ 7 บาท

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากประปัญหาถูกเลิกจ้างเพราะนายจ้างปิดกิจการ รวมทั้งประสบ ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นแต่รายได้ยังคงเท่าเดิม เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะปรับขึ้นค่า จ้าง 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งเท่ากับเห็นความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพนักงาน ข้าราชการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 8 มิ.ย.เวลา 10.00 น.นายอภัย มีกำหนดการจะ แถลงข่าวในประเด็นเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันด้วย

วันเดียวกัน ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการ 4 %แต่เงินเดือนของพนักงานรัฐในมหาวิทยาลัยยังไม่มีการปรับขึ้นนั้น เรื่องดังกล่าวตนได้พูดชัดเจนไปแล้วในที่ประชุมครม.ว่า การขึ้นเงินเดือนสำหรับกลุ่มดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ไม่มีอำนาจที่จะดูแลในเรื่องนี้แต่จะดูในส่วนของข้าราชการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งกลุ่มดังกล่าวตนได้ขอให้มีการสำรวจและจัดสรรเงินให้ด้วย เพราะหากตกหล่นไปก็จะเป็นเรื่องเดือดร้อนทันที โดยจะต้องให้คนที่มีหน้าที่ดูแล เช่น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ พนักงานรัฐอัตราจ้าง ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มาทำหน้าที่เพิ่มเงินให้กับกลุ่มนี้ไม่น้อยกว่า 4 % ด้วย

ทั้งนี้ มติครม.ได้มอบให้สำนักงบประมาณไปพิจารณาว่า จะจัดสรรเงินในส่วนเหล่านี้ให้ได้อย่างไร ขณะเดียวกันตนก็ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ไปสำรวจว่า มีผู้ที่สมควรได้รับเงินเดือนเพิ่ม 4 %แต่ไม่ใช่ข้าราชการมีจำนวนเท่าใด และต้องใช่เงินจำนวนเท่าไร เพื่อเสนอของบแปรญัติก่อนเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ศ.ดร.วิจิตร กล่าวอีกว่า พนักงานราชการที่ยังไม่เข้าสู่การเป็นพ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐก็เดือดร้อนเช่นกัน ดังนั้นพนักงานมหาวิทยาลัยก็ควรจะได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนด้วย เพราะหากไม่มีการปรับก็อาจจะเกิดความลักลั่นกันได้ โดยจะต้องมีการจัดสรรเงินให้ โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินจากมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งพิจารณาโดยเร็ว คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณมาจัดสรรให้กลุ่มดังกล่าวประมาณ 1,000 ล้านบาท เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีอยู่กว่า 10,000 คน