Thai / English

"สปส."เผยคนว่างงานปี50พุ่งกว่า3แสนราย


กรุงเทพธุรกิจ
05 .. 50
กรุงเทพธุรกิจ

สปส.เผยคนว่างงานเข้ามาตรา 39 พุ่ง จากปี 2549 เพียง 1.9 หมื่นคน มาปี 2550 เพิ่มเป็น 3.2 แสนราย ระบุจ่ายเงินชดเชยแล้วกว่า 2 พันล้านบาท ชี้ภาวะเศรษฐกิจทรุดหนักต้นเหตุ แฉนายจ้างเล่นแง่ ไม่แจ้งคนงานเข้า-ออกเลี่ยงจ่ายเงินเข้ากองทุน ขู่เข้มจับได้จำคุก 6 เดือนปรับ 2 แสนบาท

นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีคนว่างงานเข้ามาสมัครเป็นผู้ประกันตนตาม มาตรา 39 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนับจากปี 2539 ที่มีเพียง 19,436 ราย ในขณะที่ปัจจุบัน (มี.ค.2550) เพิ่มขึ้นเป็น 322,379 ราย เรียกได้ว่าเพิ่มเป็น 2 เท่าตัว ซึ่งจากการวิเคราะห์เบื้องต้นอาจเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังทรุดตัวอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ทำให้สถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจำเป็นต้องลดต้นทุนการผลิตลง จึงจำเป็นต้องมีการเลิกจ้างคนงาน อีกส่วนหนึ่งลูกจ้างลาออกเองแล้วมาเข้าสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ดังกล่าว

นอกจากนี้ยังพบว่าช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกันตนมาตรา 39 เข้ามาใช้สิทธิประโยชน์จากประกันสังคมเพิ่มขึ้นสูงเป็นลำดับ และเมื่อพิจารณาการใช้บริการพบว่ากรณีเจ็บป่วยมีอัตราการใช้บริการสูงสุด คือ 24.63% รองลงมาได้แก่กรณีคลอดบุตร 2.02% ส่วนกรณีทุพพลภาพและกรณีตาย อัตราการใช้บริการอยู่ที่ 0.66% และ 1% ทั้งนี้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2547- กุมภาพันธ์ 2550 ทางสปส.จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 2,348 ล้านบาท

“ลูกจ้างผู้ที่ได้รับความคุ้มครองในกรณีว่างงาน หรือ มาตรา 39 นั้นจะต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงานและ เมื่อว่างงาน ไม่ว่าจะเป็นลาออก สิ้นสุดสัญญาจ้าง หรือถูกเลิกจ้างให้รีบไปขึ้นทะเบียนหางานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐ เพื่อขอรับเงินทดแทนตามสิทธิของตนภายใน 30 วัน หากไปขึ้นทะเบียนช้าเกินกว่า 30 วัน เงินทดแทนที่จะได้รับจะลดสัดส่วนลง

โดยในกรณีที่ว่างงานเพราะถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ส่วนกรณีที่ลาออกโดยสมัครใจ หรือสิ้นสุดสัญญาจ้างจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง”นายสุรินทร์ กล่าว

นายสุรินทร์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สปส.ได้รับข้อร้องเรียนจากลูกจ้างเป็นจำนวนมากว่า นายจ้างละเลยการแจ้งออกจากงานให้กับลูกจ้าง ทำให้ สปส.ไม่สามารถตรวจสอบสถานะปัจจุบันของลูกจ้างได้ จึงไม่สามารถวินิจฉัยจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีต่างๆ เช่น กรณีว่างงาน กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีเจ็บป่วยให้กับลูกจ้างได้

ดังนั้น สปส.ขอแจ้งว่าสถานประกอบการใดที่ลูกจ้างลาออกจากงานให้รีบยื่นแบบ สปส.6-09 มายังสำนักงานประกันสังคมที่สถานประกอบการได้ขึ้นทะเบียนไว้โดยด่วน เพื่อแก้ปัญหาลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ หรือได้รับสิทธิล่าช้า

“ทั้งนี้กฎหมาย สปส.ระบุว่าหากนายจ้างมีหน้าที่แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้าออกของลูกจ้าง โดยให้แจ้งการรับลูกจ้างเข้าทำงานภายใน 30 วัน และเมื่อลูกจ้างออกจากงานก็ให้นายจ้างแจ้งอย่างช้าไม่เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากเกินกำหนดเวลาถือว่านายจ้างมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” นายสุรินทร์ กล่าว