Thai / English

พิษบาทฉุดผู้ส่งออก-เอสเอ็มอีป่วน ปิดรง.-ลดรับออเดอร์-ซับคอนแทรคท์


กรุงเทพธุรกิจ
26 .. 50
กรุงเทพธุรกิจ

พิษบาทแข็ง เอกชนสุดทนโวยเข้าขั้นวิกฤติ ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มทยอยปิดโรงงาน เอสเอ็มอีลดบทบาทเป็นแค่ซับคอนแทรคท์

โรงงานใหญ่ ด้านผู้ส่งออกกล้วยไม้-แปรรูปผลไม้ ลดรับออเดอร์ เลิกจ้างงานรายเดือน เพื่อประคองกิจการ จี้รัฐวางเป็นภารกิจแก้ปัญหาอันดับต้น ส.อ.ท.พร้อมหารือโฆสิต 27 มี.ค.นี้

นายวัลลภ วิตนากร อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่เงินบาทแข็งค่ามาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 ซึ่งขณะนี้เอสเอ็มอีพยายามที่จะปรับตัวตามค่าเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้นจากปลายปีที่แล้วอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันที่มีค่า 34-35 บาท แต่มีหลายรายที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ โดยทำให้ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาสมาชิกของสมาคมฯ ที่เป็นโรงงานขนาดเล็กมีจักรเย็บผ้า 50 จักร คนงานประมาณ 100 คน ได้ทยอยปิดโรงงานไปเดือนละ 3-4 แห่ง จากสมาชิกสมาคมฯ ที่มีประมาณ 200 ราย

ทั้งนี้ โรงงานขนาดเล็กที่ต้องปิดตัวลง เพราะผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าเป็นหลัก และค่าแรงที่สูงขึ้น โดยก่อนที่จะปิดโรงงานได้พยายามปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ลดคนงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กับบริษัทหรือลดแรงงานที่ไม่อยู่ในกระบวนการผลิต รวมทั้งต้องลดคำสั่งซื้อของลูกค้าลง แต่โรงงานขนาดเล็กไม่สามารถทนกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้จึงต้องปิดตัว ซึ่งโรงงานที่ปิดตัวบางส่วนจะมีเจ้าของกิจการเป็นชาวฮ่องกงหรือไต้หวันที่เห็นว่าการลงทุนในไทยมีต้นทุนสูงขึ้น จึงย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่น เช่น เวียดนาม

นายวัลลภ กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานเอสเอ็มอีพยายามปรับตัว ด้วยการเปลี่ยนจากผู้รับจ้างผลิตเพียงอย่างเดียวมาเป็นผู้ออกแบบ เพื่อสร้างสินค้าที่มีรูปแบบเฉพาะของตัวเอง รวมทั้งหาตลาดที่สอดคล้องกับสินค้าที่มีอยู่ เพื่อให้ได้ราคาสินค้าที่สูงขึ้น เพราะในอนาคตผู้นำเข้ามีแนวโน้มที่จะสั่งสินค้าล็อตใหญ่กับผู้ผลิตเพียงไม่กี่รายเพื่อลดต้นทุนในการสั่งซื้อสินค้า ซึ่งทำให้ผู้ผลิตเอสเอ็มอีไม่สามารถรับจ้างผลิตในลักษณะเดิมได้

นอกจากนี้ โรงงานขนาดเล็กบางแห่งจะหยุดการผลิตเพื่อส่งออก และปรับมาเป็นผู้รับช่วงงาน (ซับคอนแทรคท์) ต่อจากโรงงานผลิตขนาดกลางและใหญ่ที่ผลิตเพื่อส่งออกต่ออีกทอดหนึ่ง เพราะผู้ส่งออกรายเล็กไม่สามารถแบกรับภาระค่าเงินบาทได้อีก รวมทั้งที่ผ่านมาได้พยายามลดต้นทุนการผลิตทุกขั้นตอนให้ได้มากที่สุด แต่ทำได้ไม่มากเพราะลูกค้าที่สั่งสินค้าให้ระยะเวลาในการส่งมอบสินค้าสั้นลง

กล้วยไม้ไทยขอปรับขึ้นราคา

นายเจตน์ มีญาณเยี่ยม ประธานกรรมการ บริษัทกล้วยไม้ไทย จำกัด ผู้ส่งออกกล้วยไม้ กล่าวว่า เมื่อเดือนมกราคม 2550 บริษัทได้ขอปรับขึ้นราคากับผู้นำเข้าไป 10% โดยชี้แจงว่าบริษัทได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่ามาตั้งแต่ปลายปี 2549 ซึ่งผู้นำเข้ายอมปรับราคาให้ 5% และเมื่อเงินบาทแข็งค่ามากในช่วงเดือนมีนาคมนี้ บริษัทได้ขอปรับขึ้นราคาอีกครั้งอีก 5% แต่ได้รับการปฏิเสธ ซึ่งทำช่วงนี้ให้บริษัทต้องลดรับคำสั่งซื้อลง 15% เพราะถ้าเงินบาทแข็งค่ามากแล้วส่งออกมากจะทำให้ขาดทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทพยายามลดต้นทุนและลดความสูญเสียในขั้นตอนการผลิตให้ได้มากที่สุด โดยได้ลดคุณภาพพลาสติกและกระดาษบรรจุภัณฑ์ลง ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบกับคุณภาพสินค้าและผู้นำเข้าเข้าใจว่าผู้ส่งออกทุกรายจำเป็นต้องลดคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ลงเพื่อลดต้นทุน รวมทั้งบริษัทพยายามจัดระบบการขนส่งสินค้าไปสนามบิน โดยพยายามขนส่งในคราวละจำนวนมากเพื่อลดค่าขนส่ง

ขณะนี้บริษัทต้องประคองสถานการณ์ให้ได้เพื่อรักษาสภาพบริษัทเพื่อรอช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนลง ซึ่งถ้าถึงช่วงนั้นบริษัทก็จะเร่งส่งออกเพื่อชดเชยการสูญเสียในช่วงเงินบาทแข็งค่า โดยทำให้บริษัทต้องรักษาแรงงานที่มีอยู่เอาไว้แต่ลดการทำงานล่วงเวลา เพราะถ้าบริษัทต้องลดแรงงานลงแล้วจะหาแรงงานที่เข้าใจลักษณะการทำงานของบริษัทกลับมาลำบาก และถ้าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องไปอีกระยะก็จำเป็นที่บริษัทต้องเจรจาเพื่อขอปรับราคาให้ได้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นคิดว่าผู้นำเข้าจะเข้าใจสถานการณ์ของผู้ผลิตกล้วยไม้ไทย โดยขณะนี้ผู้นำเข้ายังมีความต้องการกล้วยไม้ของไทย

ผลไม้แปรรูปลดกำลังการผลิต

นายธงศักดิ์ จินตนาการฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบุญชัยทุเรียนโปรดักส์ จำกัด ผู้ส่งออกผลไม้แปรรูป กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าส่งผลให้ผู้ส่งออกผลไม้แปรรูปจำหน่ายสินค้าได้ลำบาก เพราะราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้สินค้าที่ส่งออกในช่วงนี้ต้องแบกภาระขาดทุนมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 และส่งผลให้ช่วงนี้บริษัทต้องลดกำลังการผลิตลงเพราะยิ่งผลิตมากก็ยิ่งขาดทุนมาก โดยบริษัทแปรรูปผลไม้ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุดมา 10 ปี และนับว่าปีนี้เป็นปีที่ทำธุรกิจลำบากที่สุด

ทั้งนี้ บริษัทได้เริ่มปรับตัวมาตั้งแต่ปี 2549 ที่เงินบาทเริ่มแข็งค่า โดยนำเครื่องจักรมาช่วยในการผลิต ลดการทำงานล่วงเวลา และลดแรงงานลง แต่ได้ผลในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บริษัทกำหนดต้นทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ และขณะนี้บริษัทต้องเปลี่ยนรูปแบบ การจ้างแรงงานจากเดิมที่จ้างเป็นรายเดือน เปลี่ยนมาเป็นการจ้างแบบเหมาตามงานแต่ละช่วง เพื่อลดต้นทุนค่าจ้างลงในช่วงที่บริษัทลดกำลังการผลิต โดยยังคงจ้างเฉพาะแรงงานที่จำเป็น เช่น พนักงานบัญชี ธุรการ ขนส่งสินค้า

นายธงศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทต้องหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงเพื่อให้ผลผลิตที่ออกมามีประสิทธิภาพ ซึ่งจะไม่เจรจากับโรงงานแปรรูปผลไม้ด้วยกัน ว่าจะไม่แย่งกันซื้อวัตถุดิบ เพราะจะยิ่งทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น โดยเวลานี้เดินเครื่องการผลิตเท่าที่จำเป็นเพื่อรอช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนที่จะถึง ซึ่งจะเป็นช่วงที่ภาคตะวันออกมีผลไม้ออกมามาก โดยจะทำให้ราคาวัตถุดิบถูกลงและทำให้บริษัทได้ประโยชน์จากปัจจัยดังกล่าว เพื่อไปต่อสู้กับสถานการณ์ค่าเงินบาท แต่ถ้าค่าเงินบาทแข็งค่าถึง 32 บาท คงต้องทยอยผลิตสินค้า จนกว่าจะหมดสต็อกและต้องหยุดโรงงาน เพราะบริษัทคงไม่สามารถแบกภาระขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

เครื่องประดับดิ้นหาวัตถุดิบราคาถูก

นายวิศิษฐ์ ธนพัฒนาวิบูลย์ ประธานบริษัท วิศิรินทร์ จำกัด ผู้ส่งออกสินค้าเครื่องประดับเสื้อผ้า กล่าวว่า จากเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในระดับปัจจุบัน ทำให้การส่งออกทุกวันนี้ไม่มีกำไร แต่ต้องเดินหน้าส่งออกต่อไป เพื่อรักษาฐานลูกค้าไว้ ขณะเดียวกันลูกค้าที่บริษัทติดต่ออยู่ เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในสหรัฐมีสาขาทั่วประเทศ 600-700 ราย ทำให้การเจรจาขอปรับราคาไม่สามารถทำได้ เพราะต้องเจรจากันล่วงหน้าหลายเดือน แต่สถานการณ์เงินบาทขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากและดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ บริษัทฯเริ่มปรับตัว ด้วยการทำฟอร์เวิร์ด ค่าเงินประกันความเสี่ยง ซึ่งมั่นใจว่าธนาคารพาณิชย์น่าจะให้ความร่วมมือเพราะแม้บริษัทจะเป็นธุรกิจเอสเอ็มอี แต่ก็มีการติดต่อมานานมากกว่า 20 ปี นอกจากนี้ จะเน้นการหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตโดยตรงให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้ต้นทุนราคาถูก เนื่องจากการผลิตส่วนอื่นๆ ยังต้องพึ่งพาแรงงานซึ่งยากที่จะลดทั้งจำนวนคนงานหรือค่าแรง

สำหรับค่าเงินที่คิดว่าเหมาะสม ที่สามารถทำกำไรจากการส่งออกได้คือ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าอยู่ในระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ ก็พอรับได้ แต่จะกระทบผลกำไร

จี้รัฐเร่งรักษาเสถียรภาพค่าบาท

นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัทไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าตอนนี้ภาคการส่งออกมีปัญหามากหากเทียบกับค่าบาทที่แข็งค่าได้รับผลกระทบแล้วมากกว่า 10% ซึ่งทำให้สูญเสียสมรรถนะด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะธุรกิจเสื้อผ้าหรือการ์เมนท์ ได้รับผลกระทบมากเพราะใช้แรงงาน และตามมาเรื่องรายได้ ภาคแรงงานจะตกมาก เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องน่าห่วง หากว่าถ้ายังไม่สามารถรักษาเสถียรภาพได้ ก็จะเกิดผลกระทบต่อรัฐบาล ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาในวงกว้างตามมา

"ผมไม่อยากเห็นรัฐบาลรับภาระไปมากกว่านี้ เพราะฉะนั้น การดูแลเสถียรภาพของค่าเงินให้แข็งขนาดนี้ สำคัญมาก ผมว่าควรจะจัดเป็นงานสำคัญอันดับ 1 ในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้"

ส.อ.ท.พร้อมหารือโฆสิตอังคารนี้

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้เชิญ ส.อ.ท.เข้าหารือเกี่ยวกับการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมในวันที่ 27 มีนาคม 2550 ซึ่งนายโฆสิต คงต้องการทราบข้อมูลของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมว่าเป็นอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ นายโฆสิต อาจจะสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวออกมาว่า ส.อ.ท.ต้องการให้ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นความเห็นของฝ่ายวิชาการ ส.อ.ท.เท่านั้น ยังไม่มีการหารือเป็นมติของ ส.อ.ท.

นายสันติ กล่าวอีกว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจในสถานการณ์ที่มีการแข่งขันหรือมีปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจได้ โดยเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการสนับสนุนมากที่สุด เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่มีเงินทุนและทรัพยากรมากพอที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเองได้ และเพิ่มประสิทธิภาพของตัวเองอยู่ตลอดเวลา