Thai / English

เบื้องหลังฝึกงานภาคฤดูร้อนต่างแดน ประสบการณ์ชีวิต


ปองพล สารสมัคร
10 .. 50
กรุงเทพธุรกิจ

แทบไม่มีใครคาดคิดว่าจากการเป็นนักศึกษาเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ศึกษาประสบการณ์ชีวิตระยะสั้นช่วงปิดภาคฤดูร้อนในต่างประเทศ จะกลายเป็นแรงงานนอกระบบข้ามชาติ ที่ถูกนายจ้างกดขี่ ไร้หลักประกันสวัสดิภาพ สวัสดิการ อีกทั้งยังปราศจากการเหลียวแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนทำให้การแสวงหาประสบการณ์ชีวิตวัยใสในต่างประเทศตกอยู่ในความเสี่ยง และอาจไม่คุ้มค่ากับค่าสมัครที่เสียไปนับแสนบาท

“ รู้จักโครงการจากคนอื่นที่เคยไปมาแล้ว คุณแม่ก็คาดหวังว่า น่าจะได้ภาษา ประสบการณ์ชีวิตและเป็นการใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอม และหนูก็คิดว่านี้เป็นการผจญภัย ใช้ชีวิตคนเดียวเป็นครั้งแรก ตอนแรกว่าจะไปกับน้องชาย แต่สุดท้ายก็ต้องแยกกัน หนูคิดว่าคนอื่นอยู่ได้ แต่ทำไมเราจะอยู่ไม่ได้ ” ขวัญมนัส เบญญาอภิกุล อดีตนักศึกษาโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ประเทศสหรัฐอเมริกา เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเดินทางแสวงหาประสบการณ์ในต่างแดนก่อนที่ชีวิตจะพลิกผันจากที่เคยวาดฝันเอาไว้

โครงการทำงานและท่องเที่ยวภาคฤดูร้อน (Summer Work and Travel Program) เป็นโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ผู้เข้าร่วมจากประเทศต่างๆ เดินทางเข้าประเทศได้ ในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนโดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับวีซ่าประเภท J-1 ซึ่งเป็นวีซ่าสำหรับการศึกษาแลกเปลี่ยน เช่น ผู้ได้รับทุนนักเรียนแลกเปลี่ยน นักวิจัย ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมโครงการต้องไปทำงานตามสัญญาการจ้างงานระยะสั้น และท่องเที่ยวได้ภายในระยะเวลา 4 เดือน

ปัจจุบันโครงการดังกล่าวเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเยาวชนในระดับอุดมศึกษา จากการประมาณการของวีซ่าในสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยในปี 2548 พบว่า มีนักศึกษาไทยเข้าร่วมโครงการจำนวน 10,000 คนต่อปี พร้อมกับการกำเนิดบริษัทตัวแทนจัดหาเยาวชนเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก มีกิจกรรม ประชาสัมพันธ์ต่อเนื่องมากมายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการศึกษาไทย

“ตอนที่วางแผนการใช้ชีวิตที่โน่นยิ่งใหญ่มาก เราต้องไปดูที่โน่นที่นี่ ที่ดังๆ ของอเมริกา และเลือกทำงานในแผนกเครื่องนอนที่โรงแรม แต่พอไปถึงไม่ได้เป็นอย่างที่ตกลงกับเอเย่นต์ที่นี่ไว้เลย เอเย่นต์บอกว่ามีแค่สองที่ให้เลือกเท่านี้ อ้าวแล้วที่เลือกไว้ล่ะทำไมไม่ได้ แต่เราก็คิดว่าถ้าไม่ทำงานจะอยู่อย่างไร อีกทั้งต้องเลือกที่ทำงานใกล้บ้าน เพราะจะได้ประหยัดค่าเดินทาง แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ประหยัดมาก เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอีกมาก” ขวัญมนัส เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การทำงานในต่างแดนครั้งแรกของชีวิต

การเข้าร่วมโครงการทำงานและท่องเที่ยวภาคฤดูร้อน กำหนดให้ผู้เข้าร่วมต้องมีสถานภาพเป็นนิสิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท โดยจะได้รับค่าแรงประมาณ 6 - 8 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อชั่วโมง ผู้เข้าร่วมสามารถทำงานได้สูงสุด 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และสามารถหางานอื่นๆ ทำได้ในเวลาว่าง หลังสิ้นสุดการทำงานตามสัญญาจ้าง แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่นุ่นได้ประสบกับตนเองนั้น ตรงกันข้ามกับคำโฆษณาของบริษัทตัวแทนที่ชักชวนให้เธอเข้าร่วมโครงการ

“ตอนแรกเขาบอกว่าเราจะได้ทำงานเต็มที่ 40 ชั่วโมง แต่พอไปถึงเขาก็ไม่ให้ชั่วโมงการทำงานเรา ตามที่ตกลงไว้ หนูได้ตัวแทนเป็นคนรัสเซีย พอมีเด็กนักเรียนจากประเทศยูเครนมา เขาก็จะให้ชั่วโมงการทำงานกับเด็กยูเครนมากกว่า พวกหนูก็ไม่มีงานทำ แถมยังโดนหักค่านายหน้ากับค่าเช่าบ้านล่วงหน้าอีก เอเย่นต์ก็จะเป็นคนจัดตารางการทำงานให้ และถ้าเราป่วยไม่สบายขึ้นมา ก็คือเปลี่ยนไม่ได้ ถ้าไม่ไป เอเย่นต์ก็ไม่ป้อนงานให้อีก”

ขวัญมนัส บอกว่า ลักษณะงานส่วนใหญ่เป็นงานไม่ต้องใช้ทักษะเฉพาะในการทำงาน และเป็นงานตามฤดูกาล เช่น งานสวนสนุกและสถานที่พักผ่อน รีสอร์ท โรงแรม งานในอุทยานแห่งชาติ และงานในร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร จานด่วน เป็นต้น แต่ปัญหาของนักเรียนไทยที่ไปทำงานในต่างแดน ส่วนใหญ่มักประสบกับปัญหาทางด้านภาษาและการสื่อสาร และที่สำคัญนักเรียนไทยไม่ค่อยสู้งานเท่ากับนักเรียนต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกาใต้ ซึ่งนายจ้างค่อนข้างพอใจ และให้ค่าตอบแทนสูงกว่า

“ถ้าเป็นเพื่อนนักศึกษาที่มาจากประเทศเม็กซิโกหรือยูเครน ดูดีกว่าเด็กไทยเยอะ ทำงานหนัก สู้งาน แต่พอเป็นเด็กไทย ไม่อยากทำงานหนักเลย เขาก็เลยจ่ายค่าจ้างให้เราน้อย”

ชีวิตของนักเรียนไทยในต่างแดนไม่ได้สุขสบายอย่างที่หลายๆ คน ใฝ่ฝัน ส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดให้ได้ ท่ามกลางสังคมที่แตกต่างจากถิ่นฐานบ้านเดิม โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยและเงินทองสำหรับเลี้ยงชีพ ในช่วงแรกของการใช้ชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกา ขวัญมนัสและเพื่อนๆ อีก 3 คนอาศัยอยู่ในบ้านของนายหน้าตามที่ตกลงในสัญญาและได้จ่ายเงินล่วงหน้าค่าเช่าบ้านไปแล้ว 3 เดือน แต่พออยู่ไปได้สักพัก ปัญหาก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งขวัญมนัสและเพื่อนๆ ตัดสินใจเก็บกระเป๋าย้ายออกจากบ้านหลังเดิม แล้วแสวงหาที่อยู่ใหม่

“เราตัดสินใจย้ายออกจากบ้าน เพราะทนไม่ได้กับความใจแคบของนายหน้า เพื่อนของหนูเขาป่วยและทำงานไม่ได้ โทรไปหานายหน้าว่าขอเปลี่ยนเวร หรือขอเลื่อนเวลาได้ไหม เพราะไม่ไหวจริงๆ แต่นายหน้าตอบกลับมาว่าถ้าจะอยู่ที่บ้านต่อก็ต้องทำงาน เพราะบ้านนี้จะอยู่ได้ก็ต่อเมื่อเราทำงาน ซึ่งเป็นไปตามสัญญา พอนายหน้าพูดมาอย่างนี้พวกเราไม่คิดอะไรอีกแล้ว ออกก็คือออก แล้วค่อยหาบ้านใหม่ หางานใหม่ ไม่ต้องง้อนายหน้า สักพักเราก็ได้บ้านใหม่อยู่กัน 4 คน แต่ตกงานอยู่สองอาทิตย์กว่าจะได้งานใหม่และมีรายได้มาจ่ายค่าบ้าน” ขวัญมนัส กล่าว

แม้ว่าการเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตในต่างแดนเป็นการเปิดมุมมองให้เยาวชนได้รับรู้สิ่งใหม่ๆ ในโลกกว้างและรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเอง รวมทั้งการหารายได้เสริม เพื่อก้าวไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต แต่สิ่งที่ไม่ได้คาดคิดก็มักเกิดขึ้นเสมอที่เยาวชนมักได้รับจากการใช้ชีวิตในต่างบ้านต่างเมือง เช่น การลอยแพเด็กเมื่อไปถึงประเทศปลายทางแล้ว การจัดสวัสดิการที่ไม่เป็นตามที่ตกลงกันไว้ ทำให้ผู้ปกครองต้องเสียเงินจำนวนมากให้แก่บริษัทตัวแทน หรือแม้กระทั่งเด็กถูกหลอกลวงไปขายบริการและกักขัง

ธัญญาภรณ์ จันทรเวช นักศึกษาระดับปริญาโท คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าของวิทยานิพนธ์เรื่อง “ชีวิตข้ามแดนกับโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม โลกาภิวัตน์ในประสบการณ์เยาวชน” กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า รูปแบบโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่ก้ำกึ่งระหว่างการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์การทำงานและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการทำหน้าที่เป็นแรงงานในต่างประเทศ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียนรู้ประสบการณ์การทำงาน การท่องเที่ยว รายได้ เป็นสิ่งที่เหมาะสมและคุ้มค่ากับสิ่งที่เสียไปหรือไม่

“ปัญหาเท่าที่พบส่วนใหญ่เกิดจากบริษัทตัวแทนทั้งในประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง หลายบริษัทขาดการดูแลเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการในขณะที่ใช้ชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่ก็จะลอยแพและไม่สนใจ โดยเฉพาะสวัสดิภาพและสวัสดิการของเด็ก ดังนั้นก่อนเข้าร่วมโครงการควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจสมัครกับบริษัทตัวแทน” ธัญญาภรณ์ กล่าว

ศิริศิลป์ เตชประภาสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอล สติวเดนท์ เซอร์วิส กล่าวว่า ธุรกิจประเภทนี้ได้ขยายตัวอย่างมาก ดังนั้นผู้เข้าร่วมโครงการต้องคัดเลือกที่มีคุณภาพของบริษัทตัวแทน โดยสามารถตรวจสอบได้กับทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งจะมีบัญชีบริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจจัดส่งเยาวชนเข้าร่วมโครงการดังกล่าว และหากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายหรือผิดจริยธรรม ทางสถานทูตก็จะขึ้นบัญชีดำกับบริษัทนั้นๆ

“บริษัทตัวแทนที่รับสมัครน้องๆ เข้าร่วมโครงการ ก็ควรบอกน้องๆ ไปตรงๆ ว่า จะเจออะไร เด็กๆ จะได้เตรียมตัวเตรียมใจไปเผชิญกับโลกข้างนอก อย่างเช่น เรื่องการทำงาน เงื่อนไขในการทำงาน โดยเฉพาะชั่วโมงการทำงาน ซึ่งบริษัทตัวแทนไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะได้ทำงานกี่ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับนายจ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่พบ ทำงาน 2 เดือน อีก 2 เดือนก็เที่ยว เพราะฉะนั้นอย่าไปคาดหวังมาก เพราะเราไปเรียนรู้โลกกว้าง ” ศิริศิลป์ กล่าว

กระนั้นก็ดี ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะบุคคลหรือเยาวชนเท่านั้น เพราะธุรกิจดังกล่าวกำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ หากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่เข้ามาแก้ไขปัญหานี้และหามาตรการรองรับอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิภาพและสวัสดิการ ผลสุดท้ายเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นกับนักเรียนไทยในต่างแดนก็จะกลายเป็นเรื่องของ ดวง หรือ โชคชะตา ทั้งๆ ที่ปัญหาดังกล่าวสามารถหาทางหลีกเลี่ยง และลดระดับความรุนแรงได้

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากงานเสวนา “ ขุดคุ้ยเส้นทางท่องเที่ยวเชิงกรรมกร เบื้องลึกโครงการฝึกงานภาคฤดูร้อนยอดฮิต ” จัดโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ