Thai / English

สปส.ปรับสิทธิเงินทดแทนเพิ่มค่ารักษา


กรุงเทพธุรกิจ
28 .. 50
กรุงเทพธุรกิจ

"สปส."ไฟเขียวปรับเพิ่มสิทธิเงินทดแทนเพียบ หลังพบผู้เจ็บป่วยจากการทำงานกว่า 204,257 ราย เพิ่มค่ารักษาพยาบาลจาก 2 แสนบาท เป็น 3 แสน ค่าทำศพ 1.9 หมื่น เป็น 3 หมื่น พร้อมคุ้มครองทุพพลภาพตลอดชีวิต คาดจ่ายเพิ่มอีกปี 1,000 ล้านบาท

นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ขณะนี้ สปส.กำลังดำเนินการแก้ พ.ร.บ.กองทุนเงินทดแทนโดยปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลขั้นต้นจากเดิม 35,000 บาท เป็น 45,000 บาท เพิ่มค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยในการทำงานในอัตราสูงสุดจากเดิม 200,000 บาทเป็น 300,000 บาท ปรับค่าทดแทนให้ลูกจ้างที่ไม่สามารถทำงานได้ตั้งแต่วันแรกจากเดิม ที่จ่ายให้กับลูกจ้างที่ไม่สามารถทำงานได้เกิน 3 วัน ปรับเพิ่มค่าทดแทนรายเดือนให้ลูกจ้าง จากเดิม 60% เป็น 70 % ของค่าจ้างรายเดือน ปรับเพิ่มเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพจากเดิม จ่ายค่าทดแทนจำนวน 50% ของค่าจ้างไม่เกิน 15 ปี เพิ่มให้เป็นตลอดชีวิตในกรณีที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

นายสุรินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนการปรับเพิ่มค่าทดแทนกรณีตาย จากเดิมจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้มีสิทธิ 8 ปีเพิ่มเป็น 12 ปี สำหรับค่าทำศพจะปรับเพิ่มจาก 19,100 บาท ให้เท่ากับกองทุนประกันสังคม คือ 30,000 บาท ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฎหมายของกระทรวง โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว จากนั้นจะร่างกฎหมายไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

น.ส.นิรมล กีรติสิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนทดแทน กล่าวว่า ปัจจุบัน กองทุนเงินทดแทนมีเงินทุนรวม 21,371 ล้านบาท ในปี 2549 ได้จ่ายเงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย ประสบอันตราย สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพและเสียชีวิตให้กับลูกจ้างจำนวน 204,257 ราย เป็นเงิน 1,702 ล้านบาท ทั้งนี้ หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวคาดว่าต้องนำเงิน กองทุนทดแทนไปจ่ายเพิ่มอีกกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่กระทบต่อกองทุนมากนัก

“เราต้องการให้นายจ้างใส่ใจปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งหากนายจ้างสถานประกอบใดไม่เข้มงวดหรือจัดการลดความเสี่ยงในการทำงาน สปส.จะดำเนินการเก็บเงินสมทบจากเดิมที่จ่าย 0.2% ถึง 1% เพิ่มตามความเสี่ยงแต่ไม่เกิน 2.5%” น.ส.นิรมล กล่าวและว่า ที่ผ่านมาใน วันแรงงานแห่งชาติมักจะมีข้อเรียกร้องเรื่องความปลอดภัย ในการทำงานซึ่งการเข้าไปเข้มงวดกับนายจ้างในเรื่องนี้ก็ถือเป็นมาตรการหนึ่ง

น.ส.นิรมล กล่าวด้วยว่า กรณีที่นายจ้างไม่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทดแทน เห็นได้จากปี 2549 มีสถานประกอบการ 20 แห่ง ไม่ส่งเงินสมทบทำให้ สปส.ต้องตัดสิทธิ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทก่อสร้างซึ่งลูกจ้างจะเสียสิทธิไปด้วย ทั้งนี้ขอเตือนนายจ้างที่มีพฤติกรรมแบบนี้เลิกซะ ถ้าตรวจพบจะดำเนินการตักเตือน ให้ชำระหนี้และค่าปรับตามระยะเวลาที่ขาดส่ง นอกจากนี้จะดำเนินการอายัดทรัพย์นายจ้างด้วย