Thai / English

ปธ.สหภาพทศทข้องใจซื้อไทยคม


คมชัดลึก
20 .. 50
คมชัดลึก

ประธานสหภาพฯ ทศท ข้องใจ ท่าทีรัฐบาล-คมช. ตั้งใจเอาดาวเทียมคืนจริงหรือ เผยชี้ช่องให้นานแล้ว แต่เรื่องเงียบ รมว.ไอซีที แย้ม "สัญญา-ข้อกฎหมาย" ปึ้ก คาดต้องลงขันซื้อ นักวิชาการติงไม่คุ้ม ซ้ำยังเสี่ยง หากชาวบ้านไม่เอาด้วย จบเห่

การทวงคืนดาวเทียมไทยคมจากสิงคโปร์ อาจเป็นจุดสำคัญในการปลุกกระแสรักชาติ แต่การลงมือปฏิบัติจริงนั้นเป็นเรื่องยาก และอาจนำมาซึ่งผลกระทบในด้านลบต่อรัฐบาลและ คมช.

นายนุกูล บวรศิรินุกูล ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทศท จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ "สยามเช้านี้" ทาง ททบ.5 ถึงแนวทางการทวงคืนดาวเทียมไทยคม หลังจากที่กองทุนเทมาเซคซื้อไปจากบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า สหภาพได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด ถึงแม้ในวันนี้อาจจะดูช้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าช้าเกินไปจนแก้ไม่ได้ เพราะสหภาพเคยยื่นหนังสือให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.และประธาน คมช.ตั้งแต่ตอนรัฐประหารมาแล้ว

ซึ่งเนื้อหาหนังสือนั้นระบุว่า กิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่ทำรายได้อย่างน้อยๆ เกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดิน เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่รีบดูแลเรื่องกิจการโทรคมนาคม ก็เปรียบเสมือนกับเป็นความมั่นคงของประเทศ วันนี้ใครเป็นเจ้าของไทยคม สัญญาต่างๆ จริงๆ แล้วมีมากมายมหาศาล มีการแก้ไขกัน เรียกว่าเป็นประเด็นที่สามารถยึดคืนได้ด้วยซ้ำไป

นายนุกูล กล่าวว่า ความผิดปกติในสัญญาเกี่ยวกับดาวเทียมไทยคมนั้น มีอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ ตอนที่ส่งดาวเทียมไอพี สตาร์ จริงๆ แล้วส่งขึ้นไปทดแทนดาวเทียมดวงที่ 3 ที่มีปัญหาและบริษัทชินแซทเองก็ได้ค่าชดเชยเป็นเงิน 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตรงนี้แทนที่จะกลับเข้ามาสู่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือของรัฐ กลับกลายตกอยู่ในมือของบริษัทและไม่มีการสร้างดาวเทียมสำรอง ตามสัญญาบอกว่าจะต้องสร้างดาวเทียมสำรอง วันนี้ผิดสัญญาเห็นชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขข้อสัญญาที่มีข้อกำหนดทางเทคนิค แก้ไขสัญญาเดิมจากไทยคม 4 มาเป็นไอพี สตาร์ ต้องมีสัญญาร่วมทุน จะต้องมาแก้ไขด้านเทคนิคกันอย่างมากจะต้องมาแก้ไขกันใหม่ แล้วก็ต้องผ่าน ครม.แต่เรื่องกลับไม่ผ่าน ครม. อ้างว่าเป็นอำนาจของกระทรวง

นายนุกูล ย้ำว่า วันนี้ถ้าต้องการจริงๆ ตั้งคณะทำงานหลายๆ คนขึ้นมา สหภาพพร้อมที่จะมีข้อมูลให้เยอะแยะไปหมด วันนี้ภาคประชาชนอยากจะรู้ว่า วงโคจรในน่านฟ้าไทยเปลือกนอกดาวเทียมเป็นของไทย แต่ไส้ในเป็นของสิงคโปร์ ไปดูที่สหรัฐ ใครทำธุรกิจท่าเรือ เขาบอกเลยว่าจะต้องผ่านสภากลาโหม เขาพูดถึงความมั่นคงของประเทศ

"วันนี้เราต้องถามสิงคโปร์ ถามเทมาเซค คุณรู้มาตั้งแต่ตั้งหรือไม่ ทำไมมีการโอนเงินกองทุนเทมาเซค เอามาซื้อชินคอร์ป เพราะฉะนั้นรู้มาตั้งแต่ต้นแล้ว แล้วก็แก้ไขสัญญา ประกอบธุรกิจต่างด้าว แก้ไขกันวันเดียว รุ่งขึ้นก็มีการซื้อขาย เพิ่มอำนาจการเป็นเจ้าของสัดส่วนผู้ถือหุ้น พอแก้ไขเสร็จ ก็ผ่าน ครม. ผ่านการเห็นชอบเสร็จ ก็มีการประกาศซื้อขายหุ้นกันเลย เพราะฉะนั้นสิงคโปร์ย่อมรู้ดี ปฏิเสธไม่ได้"

ส่วนข้อเสนอในแง่ของการสร้างกระแสชาตินิยม เรื่องของการออกพันธบัตร ตั้งกองทุนมาซื้อคืนนั้น นายนุกูล กล่าวว่า ไม่ต้องหยิบมาพิจารณาก็ได้ วันนี้มาพิจารณาในเรื่องสัญญาต่างๆ การแก้ไขกฎหมายต่างๆ หยิบกฎหมายประกอบธุรกิจต่างด้าว กฎหมายประกอบโทรคมนาคมขึ้นมาใช้

เมื่อถามว่า ฟังดูแล้วเหมือนปัญหาเรื่องนอมินี ถ้าเอาจริงเอาจัง เรื่องโครงสร้างผู้ถือหุ้นของชินคอร์ป จะเป็นกุญแจในการแก้ไขตรงนี้ นายนุกูล กล่าวว่า ใช่ แต่ในเรื่องสัดส่วนของการถือหุ้น พอบอกว่าไม่ใช่บริษัทไทย บริษัทต่างชาติ วันนี้ก็ผิดแล้ว ในสัญญาถ้าผิด การแก้ไขสัญญาหลักๆ ที่มีมูลค่าเกินพันล้าน ก็ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของ ครม.

"สองเรื่องนี้ถ้าผิด ผมว่าเรียกสิงคโปร์มาเจจรา ผมว่าเขาไม่มีสิทธิที่จะหนีไปตรงอื่น ถ้าพูดกันไม่รู้เรื่องก็เอาดาวเทียมของคุณคืนไป การย้ายดาวเทียมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะฉะนั้น น่านฟ้าเป็นของไทย เอาวงโคจรของเราคืนมา เอาดาวเทียมคุณคืนไป เราไม่อยากพูดภาษาแบบนักเลงให้ต่างชาติเขามาเกรงกลัว แต่เมื่อคุณรู้มาตั้งแต่ต้น แล้ววันนี้ทำผิดในเรื่องของตัวบทกฎหมาย ทำผิดในเรื่องสัญญาก็มาคุยกัน แล้วถ้าจำเป็นจะต้องซื้อ ซื้อในราคาที่ลอตใหญ่ๆ ให้เราได้เข้าไปบริหารจัดการ แล้วก็ซื้อในราคาถูก ทำไมซื้อบาทเดียวได้ ที่มีการซื้อขายกัน ซื้อขายกันแค่บาทเดียว ตอนนี้เราจะซื้อบาทเดียวบ้างได้หรือไม่ เพราะวันนี้ก็เอากำลังตักตวงคืนไป 7.3 หมื่นล้าน อันนี้ก็มากเกินพอ" นายนุกูล กล่าว (อ่านรายละเอียดหน้า 2)

คมช.ลงขันซื้อคืนไทยคม

รายงานข่าวแจ้งว่า การออกมาเคลื่อนไหวของ พล.อ.สนธิปลุกกระแสชาตินิยม ซื้อคืนดาวเทียมไทยคมนั้น มีขึ้นภายหลัง ได้มีการหารือเรื่องนี้กับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในเบื้องต้นแล้ว โดยมีการมอบหมายให้ พล.อ.สนธิจะเดินสายปลุกกระแสประชาชนให้มีความรักชาติ ทวงสิทธิดาวเทียมมาเป็นของไทยเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าสิทธิสัมปทานจะเหลือเพียง 10 ปีก็ตาม

ในส่วนของ พล.อ.สุรยุทธ์ ก็มีการหารือกับนายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.ไอซีที เพื่อหารือถึงแนวทางด้านกฎหมาย ซื้อดาวเทียมไทยคมคืนอย่างถูกต้อง จากกองทุนเทมาเซค ประเทศสิงคโปร์

ทั้งนี้ พล.อ.สนธิ เห็นด้วยในแนวทางออกพันธบัตรเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเป็นเจ้าของดาวเทียมไทยคม และหากมีการออกพันธบัตรจริง พล.อ.สนธิก็เตรียมเงินไว้ 1 ล้านบาท เพื่อซื้อดาวเทียมกลับคืน เบื้องต้นมีการหารือใน คมช.แล้ว ซึ่งสมาชิกทุกคนต่างแสดงความจำนงขอร่วมการบริจาคด้วย โดยจะมีการหารืออีกครั้งในการประชุมในวันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์

พล.อ.สุรยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า ก็เป็นเรื่องที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ ซึ่งนายสิทธิชัยได้ศึกษารายละเอียดอยู่ และยังคงเป็นเพียงแนวทางกว้างๆ ทั่วๆ ไป คงต้องมีการหารือในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งว่าจะทำกันอย่างไร ถ้าช่องทางนั้นมีโอกาสที่จะเป็นไปได้

ไอซีทีล้อมคอกต่างชาติยึดดาวเทียม

นายสิทธิชัย กล่าวว่า สัปดาห์หน้า ไอซีทีจะเสนอที่ประชุม ครม.ขออนุมัตินโยบายให้อุตสาหกรรมดาวเทียมเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ เพื่อประกาศเป็นนโยบายของกระทรวงไอซีทีต่อไป ซึ่งจะป้องกันไม่ให้รัฐบาลในอนาคต ทำการเปลี่ยนแปลงเพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์

นโยบายดังกล่าว ประกอบด้วยรายละเอียดหลักๆ 3 ด้าน คือ 1.กระทรวงไอซีทีจะไม่ต่ออายุสัมปทานดาวเทียมให้บริษัทใดที่มีข้อน่าสงสัยว่าเป็นบริษัทต่างชาติ 2.กระทรวงไอซีทีจะไม่อนุญาตบริษัทที่ต้องสงสัยว่าเป็นบริษัทต่างชาติ ส่งดาวเทียมเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้ว

และ 3. เพื่อให้เกิดการแข่งขันในกิจการดาวเทียม ก็จะเปิดให้บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐสามารถเข้ามาขอสัมปทานดาวเทียมได้ โดยกระทรวงไอซีทีมีสิทธิให้สัมปทานโดยตรง เนื่องจากที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้ปฏิเสธบทบาทกำกับดูแลธุรกิจดาวเทียม โดยให้เหตุผลว่าเป็นความรับผิดชอบของไอซีที

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการเบื้องต้น ในการแก้ไขปัญหาที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เกี่ยวกับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ. ชิน แซทเทลไลท์ ว่าเป็นบริษัทต่างชาติหรือไม่ รวมถึงประเด็นเรื่องปัญหาความมั่นคง กรณีที่มีผู้มองว่าปัจจุบันสัมปทานดาวเทียมไทยคมตกอยู่ในมือของต่างชาติ คือประเทศสิงคโปร์

เร่งดู ก.ม.สอบนอมินีกุหลาบแก้ว

นายสิทธิชัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาสัมปทานดาวเทียมของชินแซทนั้น จุดสำคัญคือ ต้องตีความว่า บริษัทกุหลาบแก้ว เป็นต่างชาติหรือไม่ และถ้ามีการวินิจฉัยว่า “ใช่” ธุรกิจสื่อสารทั้งหมดของ บมจ.ชินคอร์ป ก็จะถือว่าเป็นของต่างชาติทันทีและชินแซทก็จะไม่มีสิทธิได้รับสัมปทาน เพราะในธุรกิจสื่อสารนั้น ต่างชาติจะถือหุ้นมากกว่า 50% ไม่ได้

“อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีการวินิจฉัยกรณีกุหลาบแก้วออกมา ทุกฝ่ายจึงอิหลักอิเหลื่อ” นายสิทธิชัย กล่าว

ล่าสุด กระทรวงไอซีทีกำลังขอคำปรึกษาทางกฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถเข้าไปสอบสวนความเป็นนอมินีของกุหลาบแก้วเองหรือไม่ โดยดูจากที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถเข้าไปสอบสวนธนาคารพาณิชย์ต่างชาติได้เอง โดยไม่ต้องรอหน่วยงานอื่น

ทั้งนี้ แม้ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์จะตีความเรื่องกุหลาบแก้วออกมาแล้ว แต่ก็ต้องส่งเรื่องไปยังหน่วยงานอื่นให้ตรวจสอบต่อ และเกิดความล่าช้ามาจนถึงขณะนี้

เล็งพึ่ง “คลัง” สอบเส้นทางการเงิน

พร้อมคาดว่าจะสามารถสรุปแนวทางด้านกฎหมายได้ภายใน 1 เดือน ซึ่งถ้าผลสรุประบุว่า กระทรวงไอซีทีสามารถเข้าไปมีส่วนตรวจสอบได้ ในฐานะเจ้าของสัมปทานชินแซท ก็จะขอความร่วมมือผ่านกระทรวงการคลัง เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาช่วยตรวจสอบเส้นทางการเงินของกุหลาบแก้ว ว่ามาจากต่างชาติหรือไม่

“การตรวจสอบความเป็นนอมินีของกุหลาบแก้ว ต้องตรวจสอบจากเส้นทางการเงิน เพราะถ้าตรวจสอบจากด้านอื่น เขาสามารถไปทำหลักฐานได้” นายสิทธิชัย กล่าว

ศึกษาแนวทางซื้อคืน

ขณะเดียวกัน กระทรวงไอซีทีก็ศึกษาทางออกอื่นควบคู่ไปด้วย โดยกรณีที่ผลตรวจสอบไม่สามารถระบุได้ว่า บริษัทกุหลาบแก้ว เป็นนอมินี ก็อาจจะซื้อคืนสัมปทาน พร้อมกับจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมารับผิดชอบชุดหนึ่ง ซึ่งจะมี รมว.ไอซีที เป็นประธาน ส่วนกรรมการ ได้แก่ ปลัดกระทรวงไอซีที ผู้บริหารจาก กสท และทีโอที และตัวแทนจากสหภาพพนักงานทั้งสองหน่วยงาน

ปัจจุบันได้พิจารณาไว้ 2 แนวทาง คือ การซื้อคืนหุ้นชินคอร์ปจากเทมาเซค ซึ่งหากประเมินราคาหุ้นในตลาดจะมีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาท แต่จะได้ทั้งธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และอื่นๆ เข้ามาด้วย

ส่วนอีกแนวทางคือ การซื้อคืนเฉพาะชินแซท ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยนายสิทธิชัยย้ำว่า หากเลือกแนวทางนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องหาแหล่งทุน หรือกระทบกับภาษีประชาชน เนื่องจากสามารถนำเงินค่าภาษีสรรพสามิต ที่ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม เคยจ่ายไว้ปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท มาซื้อได้ทันที

“ไอซีทีได้พิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการซื้อคืนมา 3-4 เดือนแล้ว แต่เป็นไปในทางลับ เพราะต้องดูว่าจะซื้อส่วนไหน ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ และสมควรจะซื้อจริงๆ หรือไม่ เพราะถ้าดูจากสัมปทานก็เหลืออีกประมาณ 10 ปี ขณะที่ดาวเทียมไทยคม 1 และ 2 ก็เหลืออายุใช้งานอีกไม่นาน” นายสิทธิชัย กล่าว

นายสิทธิชัย กล่าวว่า หากได้ข้อสรุปเรื่องการซื้อคืน ก็จะแต่งตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ โดยจะมีบุคคลที่ได้รับความเชื่อถือจากสังคมว่ามีความยุติธรรมเข้ามาร่วมเป็นกรรมการชุดนี้

ดูสัญญาแล้วหมดสิทธิล้มสัมปทาน

นายสิทธิชัย ย้ำด้วยว่า กรณีที่มีผู้เสนอให้ยึดสัมปทานนั้น คงไม่สามารถทำได้ เพราะเท่าที่ศึกษาปัจจุบันพบว่าสัญญาชินแซทกับไอซีทีทำไว้รอบคอบ อย่างไรก็ตาม ได้แต่งตั้งคณะกรรมชุดหนึ่งขึ้นมาตรวจสอบก่อนส่งให้กฤษฎีกาตีความแล้ว

นอกจากนี้ ก็ได้ยื่นเรื่องการแก้ไขและแนบท้ายสัญญา ที่มีมากกว่า 10 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นหลังปี 2535 โดยไม่ผ่าน ครม. เข้าไปให้กฤษฎีกาตีความแล้วด้วย จากก่อนหน้านี้เคยส่งสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปให้ตีความเช่นกัน

“ผมมองเบื้องต้นว่าความผิดที่เกิดขึ้นไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย เป็นเรื่องของความผิดทางเทคนิค จึงไม่มีช่องให้ยกเลิกสัญญา เพราะเปิดช่องไว้ให้มีเพียงการแก้ไข ซึ่งการแก้ไขใดๆ ต้องมีการเจรจากันก่อนดำเนินการ” นายสิทธิชัย กล่าว

ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้แก้ไขประเด็นของธุรกิจดาวเทียม เป็นเรื่องของยุทธภัณฑ์เพื่อโอนความรับผิดชอบไปยังกระทรวงกลาโหมนั้น คงไม่สามารถดำเนินการให้มีผลย้อนหลังกับสัมปทานชินแซทได้ ปัจจุบันผู้ถือหุ้นชินแซท ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2549 มี บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น ถือหุ้น 41.32% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 58.68%