Thai / English

ยอมเปิดรง.ทำต่อ "ฉันทนา"เฮรัฐช่วยหาออร์เดอร์

เสี่ยร่ำไห้เจรจา-ขอสู้ต่อ!แฉเจ๊งแล้วนับร้อยบริษัท
ข่าวสด
19 .. 50
เครือมติชน

ฉันทนา 5 พันคนเฮลั่น เสี่ย-เจ๊เจ้าของรง.ไทยศิลป์ กัดฟันสู้ต่อเปิดโรงงานต่อ หลังปิดแบบช็อกไป 2 วัน จนคนงานปิดถนนประท้วงเป็นข่าวใหญ่ รมว.แรงงาน-ผู้ว่าฯสมุทรปราการ รับบทคนกลางนัด 2 ฝ่ายเจรจานานถึง 3 ชั่วโมง ก่อนสรุปเปิด รง.ดำเนินงานต่อ โดยรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยเหลือเรื่องส่งออก หลังลูกค้ารายใหญ่ตัดออร์เดอร์ และพิษบาทแข็งขาดทุนย่อยยับ เนื่องจากตกลงราคา-รับงานล่วงหน้าหลายเดือน พอเจอเงินบาทแข็งเลยพัง เสี่ยร่ำไห้เปิดใจกัดฟันจนทนไม่ไหว จึงตัดสินใจปิด รง.แบบกะทันหันเพราะไม่มีเงินจะจ่ายค่าแรงแล้ว วอนคนงานเห็นใจด้วย แต่เมื่อรัฐบาลจะช่วยก็พร้อมสู้ต่อ รมว.แรงงานประสานกระทรวงอุตฯ ดูแล รง.สิ่งทออื่นๆ ถึง 4,500 โรงเป็นพิเศษ หากมีปัญหาต้องรีบช่วยแก้ไขหวั่นปิดหนีไปอีก ผอ.อุตสาหกรรมสิ่งทอเผยตั้งแต่ต้นปีมี รง.ปิดไปแล้วกว่า 100 แห่ง เพราะสู้ค่าเงินบาทไม่ไหว แถมจีน-เวียดนามคู่แข่งสำคัญกำลังมาแรง แนะต้องเร่งปรับตัวด้วย ด้านประธานสภาอุตสาหกรรมไทย ยอมรับสมาชิกบ่นอุบลูกค้าต่างชาติตัดออร์เดอร์เพราะปัญหาเงินบาทแข็ง ทำให้เมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้วราคาในเมืองไทยจะแพงกว่า

จากเหตุการณ์บริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมพอร์ต เอกซ์พอร์ต จำกัด ถ.กิ่งแก้ว จ.สมุทรปราการ ทำกิจการเย็บเสื้อผ้ากีฬาส่งออกให้กับแบรนด์ดังๆ หลายยี่ห้อ อาทิ ไนกี้ และอาดิดาส ปิดกิจการดื้อๆ โดยปิดป้ายประกาศหน้าบริษัทเมื่อเช้าวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา และไม่มีการบอกกล่าวกับพนักงานล่วงหน้า ทำให้พนักงานกว่า 5,000 คนที่เดินทางมาทำงานตอนเช้าตกตะลึงไปตามๆ กัน ก่อนที่จะก่อม็อบปิดถนนประท้วงเรียกร้องให้ราชการเข้ามาช่วยเหลือ เบื้องต้นพบว่าบริษัทประสบภาวะขาดทุนจากปัญหาเงินบาทแข็งค่า ทำให้ออร์เดอร์จากลูกค้าต่างประเทศลดลง ประกอบกับหุ้นส่วนใหญ่ขอถอนหุ้นไปลงทุนในประเทศเวียดนาม จนเป็นหนี้เป็นสินมากมาย จึงตัดสินใจปิดกิจการดื้อๆ โดยตัวแทนบริษัทระบุว่าจะหาเงินมาจ่ายชดเชยให้พนักงาน แต่ต้องรอขายทรัพย์สินต่างๆ เสียก่อนนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา มีตัวแทนพนักงานราวๆ 200-300 คนปักหลักอยู่ในเต็นท์ที่กางขวางถนนหน้าโรงงาน โดยมีตำรวจสภ.ต.ราชาเทวะ มาดูแลและอำนวยการจราจรเนื่องจากเส้นทางมุ่งหน้าไปลาดกระบังไม่สามารถเดินการจราจรได้ ต้องให้รถเลี่ยงมาวิ่งสวนเลน กระทั่งช่วงเช้ามีพนักงานทยอยมาร่วมชุมนุมประมาณ 2-3 พันคน และนำเครื่องขยายเสียงมาติดตั้งพร้อมการโจมตีการปิดบริษัท ซึ่งการชุมนุมก็เป็นไปอย่างคึกคัก เพราะต่างมีความคาดหวังว่าจะมีการเจรจา กับทางเจ้าของบริษัทในเรื่องของเงินค่าจ้าง ซึ่งในด้านการจราจรในช่วงเช้ามีรถใช้เส้นทางจำนวนมากแต่ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

เวลา 10.00 น. นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลย์วุฒิ ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ จัดรถบัสรับส่งพนักงานจำนวน 2 คันมารับตัวแทนพนักงาน เพื่อเดินทางไปเจรจาหาข้อยุติกับนายพิพรรษ และนางเยาวลักษณ์ อุนโอภาส สองสามีภรรยาเจ้าของบริษัท ต่อมาพนักงานที่ทราบข่าวหลายร้อยคนเดินทางมาสมทบยังหน้าศาลากลาง พร้อมส่งตัวแทนจำนวน 10 คนนำโดยนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ร่วมเจรจา โดยมีนายอภัย จันทนจุลกะ รมว.แรงงาน, นายอนุวัฒน์ ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ พล.ต.ต.ชยุต ธนทวีรัชย์ ผบก.ภ.สมุทรปราการ ร่วมในที่ประชุมด้วย

เบื้องต้นตัวแทนฝ่ายลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องจำนวน 9 ข้อให้นายจ้างและภาครัฐ ประกอบด้วย 1.เงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 2.เงินชดเชยค่าตกใจ 30 วัน (ปิดแล้วหนี) 3.ค่าแรงบวกโอทีที่ค้างพนักงานทั้งหมด 4.เงินประกันที่พนักงานจ่ายให้บริษัท (ขอคืน) 5.ทรัพย์สินของพนักงานที่อยู่ในรั้วบริษัท (ขอคืน) 6.จะต้องได้รับคำตอบหลังจากเจรจาภายในวันที่ 12 ก.ค. เวลา 13.00 น. 7.ค่าเสียหายสำหรับพนักงานที่ไม่มีโอกาสไปทำงานที่อื่นเนื่องจากอายุเกิน ตั้งครรภ์ พิการ 8.เงินสงเคราะห์เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ของลูกจ้าง และ 9.ให้รัฐบาลหาแนวทางแก้ไขและมาตรการเพื่อจัดการกับผู้ประกอบการที่ปิดกิจการโดยไม่แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นกันพนักงานบริษัทอื่นอีกต่อไป

ก่อนการเจรจานายพิพรรษกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ และบางครั้งก็หลั่งน้ำตาว่า ที่เดินทางมาวันนี้เพื่อบอกว่าธุรกิจไปไม่ได้จริงๆ สาเหตุที่ต้องปิดโรงงานเพราะค่าเงินบาทมันแข็งเรารับออร์เดอร์มาล่วงหน้า 3-4 เดือน และขาดทุนทุกเดือน พยายามประคับประคองเพื่อจะให้ดีขึ้นแต่ก็ไปไม่ได้ ต้องขอโทษพนักงานทุกคนเพราะจำเป็นจริงๆ ต้องทำอย่างนี้ ส่วนเงินตอนนี้มีเท่าไหร่จะให้พนักงานทุกคน ขอให้พนักงานเห็นใจด้วย

ต่อมาเริ่มมีการประชุมโดยใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น ก่อนที่ตัวแทนพนักงานจะออกมาบอกผลกับเพื่อนๆ ที่รออยู่ด้านหน้า โดยเบื้องต้นโรงงานจะเปิดดำเนินงานต่อ จากนั้นกลุ่มพนักงานทั้งหมดก็เดินทางกลับที่หน้าบริษัท เพื่อแจ้งผลการเจรจากับเพื่อนๆ อีกหลายพันคนที่รออยู่รับทราบข่าวดีไปด้วย

นายอนุวัฒน์ ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ กล่าวว่า เจ้าของโรงงานยอมรับว่าช่วงนี้หมดตัว และทรัพย์สินที่มีอยู่ยินดีที่จะชดเชยให้กลุ่มคนงาน และถ้าคนงานเข้ามาดู ถ้าขายอะไรได้ก็ยินยอมพร้อมให้คนงานนำเงินไปเฉลี่ยเพื่อจ่ายเป็นเงินเดือน แต่ติดอยู่ที่อสังหาริมทรัพย์มันขายไม่ได้ โดยไม่ต้องบังคับใครซื้อ ให้เอาไปเลหลัง หากขายทรัพย์สินได้และชำระหนี้ธนาคารแล้วจะจ่ายชดเชยให้คนงานทั้งหมด อย่างไรก็ตามเบื้องต้นโรงงานจะเปิดดำเนินการต่อไปตั้งแต่เช้าวันที่ 13 ก.ค.นี้ โดยฝ่ายรัฐบาลสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมสิ่งทอเข้าไปช่วยเหลือ ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อให้โรงงานสามารถอยู่รอดได้ต่อไป

จากนั้นคณะของนายอภัย จันทนจุลกะ รมว.แรงงาน ผู้ว่าฯ สมุทรปราการ นายพิพรรษ และนางเยาวลักษณ์ เจ้าของบริษัท รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เดินทางมายังจุดที่มีการชุมนุมหน้าบริษัท ท่ามกลางการอารักขาของเจ้าหน้าที่ตำรวจเกือบร้อยนาย เพื่อร่วมแถลงผลการเจรจาซึ่งได้ข้อยุติเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายจำนวน 4 ข้อ คือ 1.บริษัทตกลงเปิดดำเนินกิจการตามปกติในวันที่ 13 ก.ค. เวลา 08.00 น. โดยลูกจ้างตกลงยินดีเข้าทำงานตามปกติในวันเวลาดังกล่าว และจะร่วมกันแถลงถึงความร่วมมือในการดำเนินการร่วมกัน 2.นายจ้างตกลงว่าวันที่ 11-12 ก.ค.ถือเป็นวันทำงานตามปกติของลูกจ้าง 3.นายจ้างตกลงจะประกาศภายในวันนี้เพื่อยกเลิกประกาศปิดกิจการฉบับลงวันที่ 10 ก.ค. เพื่อเปิดกิจการทำงานตามปกติต่อไป และ 4.กรณีมีปัญหาเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของลูกจ้าง นายจ้างและผู้แทนลูกจ้าง รับจะปรึกษาหารือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

หลังจากทางพนักงานได้ยินประกาศแถลงการณ์ดังกล่าวต่างร้องไชโย บางรายถึงกับหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความดีใจ พร้อมกับร่วมกันประกาศว่าจะตั้งใจทำงานให้บริษัทอย่างเต็มที่เต็มกำลัง จากนั้นทางพนักงานช่วยกันรื้อเต็นท์เก็บขยะและแยกย้ายกันกลับบ้านเพื่อเตรียมมาทำงานในวันรุ่งขึ้นพร้อมทั้งฝากขอโทษประชาชนที่ทำให้เดือดร้อน

ด้านนางเยาวลักษณ์กล่าวว่า เหตุที่ต้องปิดกิจการเพราะทนแบกรับภาระไม่ไหวประกอบกับมียอดจำหน่ายน้อยมากจึงจำเป็นที่ต้องปิดกิจการ แต่มาวันนี้ทางรัฐบาลรับปากว่าจะเข้าดำเนินการช่วยเหลือในด้านการส่งออก พร้อมกับจัดหาออร์เดอร์ให้ จึงสามารถดำเนินการได้ตามปกติ

นายอภัย รมว.แรงงาน กล่าวว่า ภาพรวมระหว่างการเจรจานั้น ประเด็นที่ต้องหยุดงานเพราะว่าฝ่ายบริหารไม่มีเงินเดือนจ่ายให้แก่พนักงาน แต่ได้ผลสรุปว่าทางนายจ้างจะเปิดโรงงานในวันพรุ่งนี้ พร้อมทั้งออกมายอมรับผิดและขอโทษพนักงานทุกคน และทำข้อตกลงว่าต้องเปิดโรงงานตามปกติ ให้ 2 วันที่ผ่านมาเป็นวันทำงาน ทั้งนี้ต้องชมเชยตัวแทนที่มานั่งประชุมและลงไปอธิบายให้พนักงานทุกคนเข้าใจ จากการปรึกษากับ รมว.อุตสาหกรรม รวมถึงนายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผอ.สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่พร้อมจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับความเป็นโรงงาน แต่เนื่องจากทางกระทรวงแรงงานไม่มีข้อมูล แต่ทางกระทรวงแรงงานนั้นจะคอยดูแลนายจ้างและลูกจ้างให้เข้าใจกัน

นายอภัยกล่าวต่อว่า ทำอย่างไรที่เราจะประคองทั้ง 2 ฝ่ายให้ได้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือดูแล เพราะทั้ง 2 กระทรวงควบคุมการผลิต การส่งออก การนำเข้า และเรื่องตลาด ถ้าถามว่าเราพอใจหรือไม่ที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันได้ พรุ่งนี้โรงงานเปิด นายจ้างยกเลิกประกาศ และลูกจ้างต้องไปถอนแจ้งความ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี

ผู้สื่อข่าวถามว่าในกรณีที่เกิดขึ้นนี้จะมีการป้องกันไม่ให้โรงงานอื่นทำตามอย่างไร นายอภัยกล่าวว่า ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้อีกทางกระทรวงแรงงานจะหาทางช่วยเหลือและแนะนำในเรื่องที่เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงาน พร้อมทั้งจัดหาบริษัทรองรับ อย่างในวันนี้ก็มีสถานประกอบการถึง 77 แห่ง รองรับอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้ายังเป็นอาชีพที่ตลาดต้องการอยู่

นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในวันที่ 13 ก.ค. เวลา 11.00 น. เจ้าของบริษัทไทยศิลป์ฯ จะมาร่วมหารือกับสถาบันสิ่งทอถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และจะพิจารณาร่วมกันว่าสถาบันจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของเขาอย่างไรบ้าง ซึ่งหลังจากเกิดปัญหาโรงงานไทยศิลป์ฯ ปิดกะทันหัน สถาบันจะติดตามดูโรงงานสิ่งทอที่ปัจจุบันขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมประมาณ 4,500 รายเป็นพิเศษ เพราะมีแนวโน้มว่าโรงงานอีกประมาณ 10% หรือประมาณ 450 แห่ง เสี่ยงที่จะปิดตัวเองลง เนื่องจากโรงงานดังกล่าวดำเนินธุรกิจที่ไม่แข็งแรง และยังไม่ปรับปรุงตัวเองรับการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี

นายวิรัตน์กล่าวอีกว่า ช่วงปีที่ผ่านมามีโรงงานสิ่งทอปิดตัวไปแล้ว 109 แห่ง ส่วนหนึ่งเกิดจากการแข็งค่าของเงินบาททำให้โรงงานดังกล่าวแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้ และเมื่อผู้ผลิตรายใหญ่งดสั่งซื้อสินค้า ผู้ประกอบการจึงปรับตัวไม่ได้ต้องปิดตัวลง หรือไม่ก็ต้องควบรวมกับโรงงานอื่น บางรายอาจย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามหรือประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่โรงงานที่ปิดตัวลงจะเป็นโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลาง ถือว่าเป็นเหตุการณ์ปกติ เพราะทุกๆ ปีเมื่อมีโรงงานปิดตัวลงก็จะมีโรงงานสิ่งทอเปิดใหม่ประมาณ 30-40 แห่ง

"คงไม่สามารถเจาะจงเป็นรายโรงงานได้ว่าโรงงานไหนจะปิดตัวเองลง เพราะข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจโรงงานจะไม่ค่อยเปิดเผยให้ใครรู้ มันเป็นความลับทางธุรกิจ และคงไม่มีเจ้าของโรงงานคนไหนกล้ามาประกาศล่วงหน้าว่าจะปิดโรงงานตัวเอง โดยเชื่อว่าจะไม่มีโรงงานสิ่งทอปิดแบบกะทันหันแบบโรงงานไทยศิลป์ฯ อีก" นายวิรัตน์กล่าว

ผอ.สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวอีกว่า โรงงานสิ่งทอขณะนี้ควรปรับปรุงตัวเองให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน สู้กับคู่แข่งอย่างจีนและเวียดนามได้ พร้อมทั้งต้องเร่งปรับปรุงนวัตกรรมการผลิตให้ทันสมัย ทันกับเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลง หากโรงงานสิ่งทอมีความแข็งแรง ปัญหาค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นในขณะนี้คงไม่ส่งผลกระทบทำให้โรงงานต้องปิดตัวเองลง

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รมช.อุตสาหกรรม กล่าวภายหลังหารือร่วมกับนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกฯ และ รมว.อุตสาหกรรม กรณีโรงงานของบริษัทไทยศิลป์ฯ ปิดกิจการลงว่า ให้สถาบันสิ่งทอหารือร่วมกับนายกสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อติดตามว่ามีโรงงานใดที่ยังอยู่ในภาวะลำบาก และสุ่มเสี่ยงที่จะต้องปิดโรงงานลงอีก เพื่อจะเข้าไปช่วยเหลือทันเวลา เพราะยอมรับว่าสถานการณ์ที่ผันผวนจากค่าเงินและการแข่งขันในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่รุนแรงกับจีน และเวียดนาม อาจทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอไทยปิดตัวลงอีก และจะลุกลามไปยังอุตสาหกรรมอาหาร เฟอร์นิเจอร์ และยางพารา อย่างไรก็ตามขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งเข้าไปสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัว ลดต้นทุนการผลิต และจะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากๆ ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เขมร ลาว เวียดนาม

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ กล่าวถึงการปิดโรงงานเพราะปัญหาเงินบาทแข็งค่าว่า ผลกระทบต้องมีบ้างบางส่วน แต่ในภาพรวมคงไม่มี น่าจะเกิดขึ้นเฉพาะบางโรงงาน แต่ยอมรับว่ารัฐบาลมีความกังวลในเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้กังวลจนเกินเหตุ เพราะมีผู้รับผิดชอบดูแลอยู่แล้ว อีกทั้งเราพูดมานานพอสมควรตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลว่าขอให้มีการปรับตัว ซึ่งบางส่วนปรับตัวได้แต่บางส่วนปรับตัวไม่ได้ต้องปิดตัวลง อย่างโรงงานที่ จ.สมุทรปราการ

ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ผันผวน จนบางฝ่ายห่วงว่าจะเกิดผลกระทบลูกโซ่ต่อผู้ประกอบการนั้น พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่น่ามีปัญหาที่น่าเป็นกังวลมากนัก ทางผู้ว่าฯ ธปท.กับ รมว.คลัง ติดตามเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนบริษัทที่มีปัญหาทราบว่ากระทรวงแรงงานได้เข้าไปแก้ไขแล้วคงไม่มีปัญหา ส่วนบริษัทอื่นๆ คงต้องดูตามกระบวนการไตรภาคี โดยกระทรวงแรงงานต้องรับผิดชอบต่อไป

เมื่อถามว่ารัฐบาลจะให้ความเชื่อมั่นกับนักลงทุนไทยและต่างประเทศอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ผู้ประกอบการขอให้มั่นใจและพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ให้มากขึ้น ส่วนนักลงทุนขณะนี้ก็มีเงินทุนระยะสั้นเข้ามาในตลาดหุ้นค่อนข้างสูง เราเฝ้าติดตามอยู่ สำหรับนักลงทุนไทยที่ลงทุนระยะสั้นก็ต้องระวัง

ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด คงไม่ใช่การแข็งค่าของเงินบาทอย่างเดียว แต่บริษัทอาจมีปัญหาการบริหารการเงินมาแล้ว แต่ยอมรับว่าการที่เงินบาทแข็งค่ากระตุ้นให้ผู้ส่งออกขาดทุนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งมีสัญญาณการขาดทุนมาหลายเดือนแล้ว ดังนั้นโรงงานขนาดเล็กคงจะมีการลดการผลิตและปิดกิจการตามมาอีกแน่นอน

นายสุกิจ คงปิยาจารย์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ทางสมาพันธ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มตระหนักถึงความเดือดร้อนที่บริษัทไทยศิลป์ฯ ปิดกิจการและทำให้พนักงานกว่า 5,000 คนตกงานทันที ในส่วนของสมาพันธ์ได้แจ้งไปยังสมาชิกของสมาคมสิ่งทอฯ เพื่อสอบถามว่าบริษัทใดมีความประสงค์ต้องการพนักงานเพิ่มเติม และวันนี้ได้มีการตั้งโต๊ะเปิดรับสมัครพนักงานดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีพนักงานสมัครเป็นจำนวนมาก แต่ก็เปิดอิสระให้กับพนักงานในการตัดสินใจอย่างเต็มที่

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการสอบถามไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอของส.อ.ท. ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 100 กว่ารายและเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ พบว่าส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก ทำให้ยอดคำสั่งซื้อสินค้า (ออร์เดอร์) ลดน้อยลง แต่ยังไม่ถึงขั้นต้องปิดกิจการ หรือมีสัญญาณให้เห็นว่าจะมีการลดคนงาน เพราะตามปกติแล้วก่อนที่จะมีการปิดกิจการส่วนใหญ่ก็จะต้องมีการลดคนก่อน จึงไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับโรงงานไทยศิลป์ฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของส.อ.ท.ด้วย

"ตอนที่รู้ข่าวก็งงเหมือนกัน เพราะไม่เห็นมีใครรู้และแจ้งให้ทราบเลย อย่างไรก็ตามจากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นพบว่าโรงงานไทยศิลป์ฯ รับออร์เดอร์จากไม่กี่ราย สัดส่วนการผลิตให้แต่ละรายเลยสูง บางรายสูงถึง 70% ทั้งที่ตามปกติควรจะมีการกระจายออร์เดอร์รับต่อรายสูงสุดไม่น่าเกิน 15% เพื่อป้องกันความเสี่ยง พอเกิดปัญหาจึงไม่สามารถหาออร์เดอร์อื่นมาแทนได้" นายสันติกล่าว