Thai / English

เมื่อวันอังคารที่ 17 มีนาคม 2552 เวลา 09.00–12.30 น. คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ภายใต้การสนับสนุนของสภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า ได้ร่วมกันจัดสัมมนาเรื่องการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งทางการเมืองของผู้ใช้แรงงาน ณ โรงแรมอิสติน แอนด์ สปา กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยประมาณ 100 คน  วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะตัวแทนองค์กรจัดงาน เป็นผู้กล่าวต้อนรับและรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานในครั้งนี้ว่า การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งของผู้ใช้แรงงานถือเป็นประเด็นสำคัญในปัจจุบัน เพราะทุกวันนี้ผู้ใช้แรงงานทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบรวมประมาณ 37 ล้านคน ล้วนเป็นฟันเฟืองที่สำคัญของประเทศไทย แต่กลับพบว่าพวกเขามีส่วนร่วมทางการเมืองน้อย เช่น กรณีการปฏิรูปทางการเมืองที่ผ่านมา พบว่า ผู้ใช้แรงงานหรือคนยากจนมีตัวแทนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือสมาชิกวุฒิสภา (สว.)ในสัดส่วนที่น้อยมาก จึงส่งผลต่อการกำหนดนโยบายในระดับต่าง ๆ ที่ไม่ตอบสนองต่อผู้ใช้แรงงานและคนจน ฉะนั้นการปฏิรูปการเมืองใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ผู้ใช้แรงงานต้องเป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในการนำเสนอนโยบาย นำเสนอปัญหาระดับต่าง ๆ เพราะพวกเราต่างเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ควรมีโอกาสมีส่วนร่วมทางการเมืองมากกว่าที่เป็นอยู่ ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การหย่อนบัตรเลือกตั้ง ประชาธิปไตยหมายถึงการมีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในการกำหนดนโยบายระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการมีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ทำงานโดยตรง แต่โอกาสเหล่านั้นได้หายไป ไม่เคยเกิดขึ้น ฉะนั้นอุปสรรคเหล่านี้จำเป็นต้องฝ่าข้ามไปให้ได้            การสัมมนาวันนี้มีวัตถุประสงค์ 4 ประการ คือ (1)     เพื่อระดมความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงาน เรื่องการมีส่วนร่วมและความเข้มแข็งทางการเมืองของผู้ใช้แรงงาน(2)     เพื่อรณรงค์ให้ผู้ใช้แรงงานมีความสนใจติดตามข่าวสารทางการเมือง (3)     เพื่อให้ความรู้ทางการเมืองต่อผู้ใช้แรงงาน ในด้านการเมืองภาคพลเมือง มีความรู้และทักษะทางการเมืองเพิ่มขึ้น (4)     เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำให้มีความพร้อมที่จะไปรณรงค์ในสถานประกอบการต่อไป การเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.สุจิต บุญบงการ ประธาน
สภาพัฒนาการเมือง กล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ
            วันนี้ผมจะขอนำเสนอในสองประเด็นหลัก ประการที่หนึ่ง สภาพัฒนาการเมือง
ความสำคัญอย่างไร ประการที่สอง ผู้ใช้แรงงานจะมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างไร
สภาพัฒนาการเมืองเป็นหน่วยงานใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นมาไม่นานและประชาชนยังไม่คุ้นเคย จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้กำหนดไว้ว่า ให้มีการจัดตั้งสภาพัฒนา
การเมืองขึ้นมา เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการวางแผนพัฒนาการเมือง และส่งเสริมการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีการตราพระราชบัญญัติขึ้นมาเพื่อรองรับการทำงานของสภาพัฒนาการเมือง โดยเฉพาะในเรื่ององค์ประกอบการเป็นสมาชิกและบทบาทหน้าที่ สภาพัฒนาการเมืองมีสมาชิกทั้งหมด
120 คน มาจากตัวแทนที่เรียกว่า สภาองค์กรชุมชน 76 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน เลือกตัวแทนขึ้นมา นอกจากนั้นยังมีตัวแทนจากกลุ่มประชาสังคมจำนวนหนึ่ง นักวิชาการ พรรคการเมือง และสุดท้ายกลุ่มที่มาจากองค์กรอิสระต่างๆ เช่น กกต. ปปช.             ภารกิจหน้าที่ของสภาพัฒนาการเมืองมี 4 ประการ ประกอบด้วย ประการที่หนึ่ง เพื่อจัดทำแผนพัฒนาการเมือง ประการที่สอง เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นการเมืองภาคพลเมือง ประการที่สาม เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดขึ้นในผู้นำทางการเมืองทุกระดับ ทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง และประการที่สี่ เพื่อเสริมสร้างค่านิยมที่ถูกต้องเหมาะสมต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในประเด็นต่อมาเรื่องผู้ใช้แรงงานจะมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างไร ในส่วนนี้ผู้ใช้แรงงานจะต้องเสริมสร้างการเมืองภาคพลเมืองที่มีความเข้มแข็งขึ้นมา เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจของภาครัฐในระดับต่างๆ เพราะประชาธิปไตยไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติ รัฐสภา พรรคการเมือง หรือการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น บทบาทของพลเมืองจะเป็นส่วนที่มีความสำคัญมากกว่า เพราะถ้าประชาชนไม่เข้มแข็ง จะถูกชักนำไปทางฝ่ายต่างๆ รวมถึงการไปยอมรับในกระบวนการเลือกตั้ง ที่เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนเชิงผลประโยชน์ มากกว่าการมองว่าการเลือกตั้งคือสิทธิของพลเมืองในการกำหนดทิศทางของประเทศ การเลือกตั้งถูกมองให้กลายเป็นเรื่องที่ว่า
“”เงินไม่มา กาไม่เป็น ฉะนั้นจึงอยากจะเสริมสร้างค่านิยมใหม่ เพราะอย่างไรก็ตามคงไม่สามารถทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงหายไป แต่ในขณะเดียวกันจำเป็นต้องสร้างค่านิยมใหม่อื่น ๆขึ้นมา ที่ไม่มองการเลือกตั้งเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แต่คือสิทธิของพลเมือง ที่ไม่ใช่แค่พิธีการหย่อนบัตร ที่ได้รับการตอบแทนโดยทันที ถ้าจะมีอะไรตอบแทนควรเป็นเรื่องนโยบายและ
การทำงานของรัฐบาลมากกว่า
            การจะเกิดค่านิยมใหม่ตรงนี้ขึ้นมาได้ ภาคพลเมืองจะต้องมีความเข้มแข็ง ต้องสร้างกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบต่างๆขึ้นมา ซึ่งในส่วนของผู้ใช้แรงงาน อันนี้น่าสนใจ เพราะมีกระบวนการหลายอย่างที่ผู้ใช้แรงงานสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ เช่น การบริหารจัดการในหน่วยงานตนเอง การดูแลชุมชนที่โรงงานตั้งอยู่ ที่ผู้ใช้แรงงานมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ นอกจากนั้นยังพบว่าภาคพลเมืองบางอาชีพ ไม่สามารถสร้างองค์กรที่มีประสิทธิภาพขึ้นมารองรับได้ เช่น ในภาคเกษตรกร ที่มีการกระจายตัวทั่วประเทศ ถึงแม้จะมีเครือข่ายมาก แต่ในเมื่อพื้นที่การทำงานของเกษตรกรยังกระจัดกระจาย การจะสร้างความเข้มแข็งภาคพลเมืองขึ้นมาจึงเป็นเรื่องยาก แต่สำหรับกรณีของผู้ใช้แรงงาน กลับพบความแตกต่าง เพราะเป็นภาคพลเมืองที่มีพื้นที่ทำงานที่ชัดเจน มีการดำเนินงานที่เป็นกลุ่มก้อน ไม่กระจายกว้างขวาง จึงทำให้มีพลังในการทำงาน ตัวอย่างขององค์กรผู้ใช้แรงงานถือเป็นตัวอย่างที่ดีและต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ            แต่อย่างไรก็ตามต้องยอมรับความจริงว่า หน่วยงานของผู้ใช้แรงงานก็ยังไม่มีความเข้มแข็งเท่าที่ควร ดูเหมือนว่าหน่วยงานของภาครัฐวิสาหกิจจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เช่น การเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดผลตอบรับในทางนโยบาย เช่น การเคลื่อนไหวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่ทำให้รัฐบาลสมัยที่แล้วไม่สามารถที่จะแปรรูปการไฟฟ้าได้ หรือในส่วนของการไฟฟ้านครหลวงก็เห็นได้ชัดเจนเช่นเดียวกัน แต่พอมามองถึงผู้ใช้แรงงานในภาคเอกชนจริง ๆ พบว่า ความเข้มแข้งในการรณรงค์ในเรื่องของผู้ใช้แรงงานเองโดยตรง หรือผลประโยชน์ของประชาชนโดยทั่วไปยังมีปัญหาอยู่ แต่ก็มีโอกาสในการเสริมสร้างความเข้มแข็งขึ้นมาได้ คือ การทำให้การเมืองภาคพลเมืองได้รับการยกระดับขึ้นมา พยายามสร้างการเมืองให้เข้มแข็ง ไม่ให้การเมืองภาคพลเมืองถูกครอบงำโดยคนของภาครัฐที่มักจะร่วมมือกับภาคธุรกิจ หรือเจ้าของกิจการทั้งหลาย ผู้ใช้แรงงานต้องรวมตัวกันให้แน่นแฟ้น เพื่อเข้าไปถ่วงดุลในภาคส่วนอื่น ๆ ตรงนี้ถือเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยทางบวกของภาคประชาชน          สำหรับปัญหาในเรื่องต่าง ๆ เช่น การที่ภาครัฐถูกนายทุนครอบงำ การขาดโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐ การยกเลิกวุฒิการศึกษาในระบบการเลือกตั้ง เสรีภาพในการรวมตัวของประชาชนที่ยังถูกกีดกันจากนายทุนหรือขาดการสนับสนุนจากรัฐ รวมถึงการประชาสัมพันธ์เรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยหรือการเมืองที่แท้จริงนั้น พวกเราต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น กรณีที่นายทุนครอบงำภาครัฐนั้น ผู้ใช้แรงงานจะต้องเผยแพร่หรือให้ความรู้ในหมู่ผู้ใช้แรงงานด้วยกันเอง เพื่อสร้างทัศนคติที่ถูกต้อง โจทย์สำคัญที่ผู้ใช้แรงงานจะต้องคิดค้นหาหนทางแก้ปัญหา คือ ทำอย่างไรที่จะให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข็งทางการเมืองมากขึ้น ทำให้ประชาธิปไตยมีความก้าวหน้า ทำอย่างไรจะสร้างเวทีเพื่อให้เกิดการพบปะปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น และสภาพัฒนาการเมืองจะเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในกลุ่มภาคประชาชนต่างๆต่อไป   ฉะนั้นโดยสรุป ภารกิจที่สำคัญที่สภาพัฒนาการเมืองจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงาน คือ การเสริมสร้างความเข้มแข้งให้กับภาคประชาชน องค์กรผู้ใช้แรงงงานถือเป็นความเข้มแข็งของภาคประชาชนที่สำคัญ อีกประการหนึ่ง คือ เรื่องการสร้างค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ที่สอดรับกับประชาธิปไตย ซึ่งผู้ใช้แรงงานสามารถพัฒนาให้เป็นตัวอย่างของภาคประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ได้ในวันข้างหน้า ต่อมาเป็นการอภิปรายเรื่อง การมีส่วนร่วมทางการเมืองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานโดยมีวิทยากรร่วมอภิปราย 2 คน คือ วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และ รศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย            วันนี้พบว่าผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยประมาณ 9 ล้านคนเป็นแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม อีกประมาณ 23 ล้านคนเป็นแรงงานนอกระบบ แต่กลับพบว่าผู้ใช้แรงงานยังไม่มีโอกาสเลือกผู้แทนของผู้ใช้แรงงานได้โดยตรง ที่ผ่านมาผู้ใช้แรงงานต้องเลือกใครไม่รู้ เข้าไปนั่งเป็นผู้แทนของตนเอง เลือกตามที่พ่อแม่ได้กำหนดมา ผู้ใช้แรงงานไม่มีโอกาสศึกษาประวัติ สส. สว. ที่พวกเราเลือกเข้าไป เพื่อกลั่นกรองกฎหมายที่จะมาบังคับใช้พวกเราในอนาคต สส. สว.เหล่านี้จึงไม่เข้าใจความทุกข์ยากของผู้ใช้แรงงาน เพราะผู้ใช้แรงงานไม่สามารถเลือก สส. สว. ในเขตพื้นที่ทำงานของเราเองได้ จึงทำให้ขาดอำนาจการต่อรอง ไม่สามารถนำเสนอประเด็นปัญหาให้ สส. สว. รับฟังได้             ในฐานะที่ผู้ใช้แรงงานเป็นหัวขบวนของภาคประชาชน แม้จะเป็นหัวขบวนที่ยังไม่เข้มแข็ง เพราะผู้ใช้แรงงานยังมีความแตกแยกกันอยู่ ยังไม่เข้าใจบทบาททางการเมือง ขาดการมีส่วนร่วม ในประเด็นปัญหา ฉะนั้นทำอย่างไรที่ผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มจะยกระดับความรู้ทางการเมืองขึ้นมา และสามารถผลักดัน สร้างอำนาจต่อรองต่อรัฐบาล เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถมีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ ได้จริง เช่น การเลือก สส. สว. ในพื้นที่ทำงาน เป็นต้นสำหรับในส่วนของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แม้ว่าจะเป็นองค์กรเล็กๆ ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด แต่ก็มีพลังในการต่อรองเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายตลอดมา เราเห็นว่าผู้ใช้แรงงาน เมื่ออยู่ในโรงงานก็เหมือนเครื่องจักร ถูกจำกัดเสรีภาพตั้งแต่ต้น ถูกกดดันอยู่ตลอดเวลา ถูกละเมิดกดขี่ เวลาไม่ได้รับความเป็นธรรมและไปยื่นข้อเรียกร้องกับบริษัท ก็จะถูกเลิกจ้าง นายจ้างไม่ยอมรับระบบแรงงานสัมพันธ์ แต่เลือกใช้วิธีกดผู้ใช้แรงงานให้ต่ำลงเหมือนไพร่ ทำให้สำนึกคนงานเหลือเพียงแค่การทำงาน ถ้าผู้ใช้แรงงานไม่ทำงานก็จะตกงาน สถานการณ์เหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานมาโดยตลอด และเราต้องร่วมกันสร้างเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้ได้จริงรศ.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย             จากกรณีที่คนงานไม่มีสิทธิเลือกตั้ง สส. หรือ สว. ในพื้นที่ทำงานของตนเอง เพื่อทำให้คนงานได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากตัวแทนที่ตนเองเลือก ผมอยากให้เราทบทวนไปในอดีตแล้วจะพบว่า ภายหลังที่รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ไม่เน้นไปที่ภาคเกษตรกรรมเหมือนแต่ก่อน ทำให้นายทุนกลายเป็นกลจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นหัวใจของระบบอุตสาหกรรม ไม่ใช่แรงงาน ฉะนั้นเมื่อรัฐบาลไทยออกกฎหมายมาในยุคแรกๆ จึงเป็นกฎหมายที่มีลักษณะการคุมคนงานให้อยู่ในระบบ และมองว่าการนัดหยุดงานเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง การรวมตัวของคนงานถือเป็นการคุกคามความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เช่น กฎหมายที่เกิดขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เห็นว่าการยอมให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การยอมให้แรงงานสามารถนัดหยุดงานได้ ถือว่าเป็นการบ่อนทำลายประเทศ ฉะนั้นหน้าที่ของรัฐ คือ การควบคุมกฎหมายเหล่านี้ ไม่ให้มีผลต่อทิศทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ แรงงานกลายเป็นเป้าหมายของการควบคุม เพื่อให้ระบบทุนสามารถเกิดการขยายตัวในประเทศไทยได้อย่างราบรื่นคำถามสำคัญ คือ วันนี้คนงานตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้เพียงใด และทำอย่างไรคนงานจึงจะสามารถปลดแอกและต่อสู้เพื่อให้กฎหมายเหล่านี้ออกไปจากตัวเรา ผมคิดว่าประชาธิปไตย คือ การพยายามต่อสู้เพื่อให้เกิดการยอมรับ บนเวทีที่เปิดเสรีกับทุกคน เพื่อให้เราสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่น สร้างความเข้มแข็ง เพื่อต่อรองผลประโยชน์ได้ คนงานทุกคนควรเรียนรู้ว่าระบบทุนนิยมทำงานอย่างไร และคนงานอยู่ตรงไหนของกระบวนการของทุน เพื่อคนงานจะได้รู้เท่าทันและหาช่องทางการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเติบโตมาจากระบบอุปถัมภ์ค้ำชู ทำให้ในทางปฏิบัติจึงใช้ระบบแบบนี้ไปสร้างอำนาจให้อยู่ในมือของตนเอง มีการใช้อำนาจรัฐไปออกกฎหมาย ออกนโยบายต่าง ๆ ที่เอื้อกับ
พวกพ้องของตนเอง ทำให้เป็นภาพสะท้อนที่สำคัญว่า กฎหมายที่ออกมาจึงมีเจตนาเพื่อเป็น
การควบคุมคน กับสะท้อนถึงพฤติกรรมนักการเมืองที่ขาดความน่าเชื่อถือ พบว่า มีผู้นำแรงงานจำนวนหนึ่งที่ได้รับการเคารพนับถือ แต่พอไปสังกัดพรรคการเมือง ต้องไปเอาใจนายทุน ทำให้
ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ได้จริง
ฉะนั้นทางออกของคนงาน คือ ต้องทำให้คนงานมีตัวแทนผลประโยชน์ทางการเมือง เพื่อมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เราต้องปฏิเสธระบบการเมืองแบบเดิมๆที่เอื้อเฉพาะผู้ที่มีเงิน ในส่วนของคนงาน แม้เราไม่มีเงินแต่เรามีพลัง มีจำนวนคนงานมหาศาล เราจะต้องสร้างความเป็นปึกแผ่นของคนงานขึ้นมา เพื่อสร้างพลังและไปกดดันเป็นครั้งๆไป ซึ่งจะได้ผลมากกว่าการเข้าไปในระบบการเมืองแบบเดิม เราต้องทำให้ขบวนการแรงงานเข้มแข็ง มีหลายประเทศในโลกนี้ที่ไม่มีพรรคการเมืองของผู้ใช้แรงงาน แต่กลับพบว่าสามารถเกิดความเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย ที่รัฐบาลต้องทำตามนโยบายของผู้ใช้แรงงาน ข้อห่วงใยของผมมีสองประเด็น คือ หนึ่ง เรื่องเงิน สอง เรื่องความกระหายตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ หากสองเรื่องนี้เรายังทำลายไม่ได้ ก็จะไม่สามารถสร้างขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งได้จริงประเทศไทยเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ความจริงแล้วกลับพบว่า แรงงานทำงานร่วมแปดชั่วโมง ในสถานที่ทำงานแบบไม่มีประชาธิปไตย แม้แรงงานไม่ใช่สินค้า แต่ระบบทุนนิยมจะบอกว่า แรงงานเป็นของนายทุน ฉะนั้นนายทุนจึงเป็นเจ้าของแรงงาน ขณะที่แรงงานทำงานอยู่ในโรงงานนั้นๆ ทำอย่างไรแรงงานจึงจะสามารถดึงความเป็นมนุษย์กลับคืนมาให้ได้ เราต้องสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นมาในโรงงาน การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ถ้าเรารู้เท่าทัน ต้องไม่ยอมรับระบบแบบเดิมๆ  ประเทศไทยเป็นระบบทุนนิยม จึงทำให้นายจ้างกลายเป็นผู้ใช้แรงงาน แรงงานกลายเป็นไพร่ เป็นวัฒนธรรมแบบศักดินา ที่มองเห็นคนไม่เท่าเทียมกัน หัวใจของขบวนการแรงงาน คือ การปลดปล่อย เพราะเราเอาคนไปกักขังในระบบทุนนิยม ถ้าเราอยากให้ความเป็นมนุษย์กลับมา เราต้องปลดปล่อยตนเองออกจากการกักขัง ให้ตนเองคืนความเป็นมนุษย์            เวลาพูดถึงระบบทุนนิยม ต้องพูดทั้งระบบ คือ ระบบทุนนิยมทำให้คนทุกคนสามารถสละวิถีการทำกินแบบอื่น ๆ ไปขึ้นอยู่กับทุนกับนายจ้าง สิ่งที่คุกคามแรงงานมากที่สุด คือ ความกลัว
ตกงาน เพราะเมื่อแรงงานตกงานแล้ว แรงงานจะอดตาย ที่ผ่านมาโรงงานจะไม่เปิดโอกาสให้แรงงานทำงานอย่างอื่น เช่น แรงงานบางคนทำงานในโรงงานมากว่า
20 ปี ถ้าจะออกไปทำงานอย่างอื่น ก็ทำไม่เป็น เพราะแรงงานได้ไปสละความสามารถทางอื่นไปหมดแล้ว ไปขึ้นกับเขาทั้งชีวิต ทำให้นายจ้างจะขู่ว่าถ้าคุณไม่ขึ้นกับนายจ้าง คุณก็จะอดตาย แต่อย่างไรก็ตาม เรามีรัฐบาล เราต้องบังคับให้รัฐบาลคืนความเป็นมนุษย์ให้เรา การที่เราต้องตกงานถือเป็นความผิดของนายจ้าง ไม่ใช่ความผิดลูกจ้าง แม้แรงงานตกงานแต่ต้องไม่ตกเงิน รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลในส่วนนี้
            ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ได้สรุปในตอนท้ายก่อนจบการอภิปรายในช่วงเช้าอย่างน่าสนใจว่า เมื่อแรงงานเข้าทำงานในโรงงาน ประชาธิปไตยก็หล่นหายไป แม้รัฐธรรมนูญจะระบุผลประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานก็พบว่าไม่เป็นผล สิ่งเหล่านี้เป็นเพราะผู้ใช้แรงงานยังรวมตัวกันอย่างอ่อนแอ แต่เมื่อเทียบกับกลุ่มคนอื่น ๆ ในสังคมไทย ถือว่าเรายังมีการรวมตัวกันในระดับหนึ่ง ยังมีนักจัดตั้งที่เข้มแข็งในภาคส่วนแรงงาน ฉะนั้นเราต้องใช้วิกฤติในครั้งนี้รวมตัวกันให้เข้มแข็ง ร่วมมือให้เป็นเอกภาพ การต่อสู้ทางการเมืองในระบบยังเป็นไปได้ รวมถึงต้องไม่ทิ้งการต่อสู้บนท้องถนนด้วยเช่นกัน ทำหน้าที่เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ทำหน้าที่กดดัน ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายการเมือง ต้องสำรวจตนเอง ให้การศึกษาใหม่ ปลุกจิตสำนึก ปลดแอกความคิดเดิมๆ ให้รู้เท่าทันระบบทุนนิยม คำตอบอยู่ที่พวกเราเอง รวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียว ตระหนักในฐานะผู้ใช้แรงงานที่จะร่วมกันต่อสู้ร่วมกันตลอดไป ปฏิรูปการเมืองจะไม่มีความหมายถ้าขาดเสียงของผู้ใช้แรงงาน 37 ล้านคนตรงนี้