Thai / English

ท่ามกลางวิกฤตการเมืองไทย สิ่งหนึ่งที่สลดใจ คือการที่เครือข่าย เอ็นจีโอ ส่วนใหญ่ มีพฤติกรรมที่น่าอับอายขายหน้าในการเลือกที่จะเข้าข้างอำมาตย์เสื้อเหลือ และมองว่าคนจนและประชาธิปไตยเป็นฝ่ายศัตรู หรืออย่างน้อยการที่เอ็นจีโออื่นๆ เงียบเฉยในขณะที่สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยถูกทำลาย [1] การวิเคราะห์ปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะนักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ เริ่มต้นในอดีตจากการต่อสู้กับเผด็จการ และการยืนอยู่เคียงข้างคนจน และในการทำความเข้าใจกับประเด็นนี้เราต้องข้ามพ้นการมองว่าเป็นแค่ข้อเสียส่วนตัวของบุคคล หรือการที่ เอ็นจีโอ มีเป้าหมายแอบแฝงเพื่อรับใช้จักรวรรดินิยมหรือเผด็จการ ในช่วงแรกของการประท้วงโดยพันธมิตรฯ ก่อนรัฐประหาร 19 กันยา เราอาจพอเข้าใจว่าทำไม เอ็นจีโอ ร่วมกับพันธมิตรฯ ในประการแรกเขามีสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนอย่าง พิภพ ธงไชย และการประท้วงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลไทยรักไทย มีความชอบธรรม อย่างไรก็ตาม พันธมิตรฯ ไม่ได้สนใจประเด็นมนุษยชนแต่อย่างใด และเราสามารถตั้งคำถามได้อีก กับการตัดสินใจของ เอ็นจีโอ ที่จะทำแนวร่วมกับพวกเสื้อเหลืองขวาตกขอบแบบ สนธิ ลิ้มทองกุล แต่ในไม่ช้า เอ็นจีโอ ได้ล้ำเส้นไปจับมือกับเผด็จการทหารและอำมาตย์เสื้อเหลืองอย่างตรงไปตรงมา จนเราสามารถพูดได้ว่าในทุกขั้นตอนของวิกฤตนี้ เอ็นจีโอ ส่วนใหญ่เลือกข้างผิด ดังนั้นถ้าไม่มีการทบทวนตัวเองอย่างเร่งด่วน ยอมรับความผิดพลาด และยอมแตกหักกับองค์กรปฏิกิริยาที่เป็นศัตรูของคนจน เอ็นจีโอไทย จะไม่มีอนาคตในการเป็นพลังของประชาสังคมเพื่อประชาธิปไตยได้อีกเลย  ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของพันธมิตรฯ ผู้นำ เอ็นจีโอ อย่าง เรวดี ประเสริฐเจริญสุข (กป.อพช.) หรือ นิมิตร์ เทียนอุดม (เครือข่ายเอดส์) ได้ขึ้นเวทีพันธมิตรฯ และนิมิตร์ ได้พูดจากเวทีนี้ว่าผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลทักษิณ ขาดข้อมูล[2] ซึ่งเป็นทัศนะที่ดูถูกคนจนและให้ความชอบธรรมกับรัฐประหาร หลังการทำรัฐประหาร 19 กันยา นิมิตร์ และผู้นำส่วนหนึ่ง ได้กีดกันไม่ให้สมาชิกเครือข่ายของตน เดินขบวนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในพิธีปิดงานสมัชชาสังคมไทย ในขณะที่ผู้นำ กป.อพช.อย่างเรวดี และเครือข่ายคนพิการ ได้ร่วมนำขบวนการประท้วง  ในตัวงานสมัชชาสังคมไทย องค์กรอย่าง รักษ์ไทยซึ่งได้รับเงินทุนจากฝ่ายรัฐจำนวนมาก ได้พาชาวบ้านใส่เสื้อเหลืองมาร่วมงาน และนำเสนอแนวคิดชาตินิยม ซึ่งทำให้เราต้องวิเคราะห์ปัญหาที่มาจากการรับเงินจากภาครัฐอีกด้วย เดิมทีเดียว เอ็นจีโอ พยายามอิสระจากรัฐภายในประเทศของตนเอง โดยการขอทุนจากมูลนิธิภายนอกประเทศ แต่ในปัจจุบัน เอ็นจีโอ กลายเป็นองค์กรที่รับเหมาทำงานจากรัฐ หรือจากองค์กรของรัฐ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) [3] คำถามคือ เอ็นจีโอ หรือ Non- Government Organisations กลายเป็น จีเอ็นจีโอ” Government Non-Government Organisations ที่ผูกพันกับรัฐหรือไม่  ที่แย่มากๆ คือ มีผู้นำ เอ็นจีโอ หลายคนเสนอชื่อ หลังรัฐประหาร 19 กันยา เพื่อหวังว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว. โดยทหารเผด็จการ เช่น เรวดี ประเสริฐเจริญสุข นิมิตร์ เทียนอุดม บรรจง นะแส (เครือข่ายประมงพื้นบ้าน) วิฑูรย์ เพิ่ม พงศาเจริญ (สิ่งแวดล้อม) หรือ ศยามล ไกรยูรวงศ์ (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) เป็นต้น และถึงแม้ว่าทหารไม่ได้แต่งตั้งเขา มีคนจากสาย เอ็นจีโอ หลายคนที่ร่วมมือกับ คมช. โดยหลงคิดว่าทหารเผด็จการจะปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยได้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ไทยในองค์กร Focus on Global South ได้ออกมาแสดงความยินดีกับรัฐประหาร[4] แต่ถูกโต้แย้งจาก Walden Bello ผู้ก่อตั้งองค์กรที่มาจากฟิลิปปินส์  เมื่อเราเปรียบเทียบแถลงการณ์ของ กป.อพช.ที่ประกาศออกมาภายใต้การนำของ ไพโรจน์ พลเพชร ในยุคที่เสื้อเหลืองกับเสื้อแดงออกมาประท้วงบนท้องถนน [5] จะเห็นข้อแตกต่างในการเน้นประเด็นระหว่างยุคเสื้อเหลือง กับยุคเสื้อแดง เช่นในเดือน พฤษภาคม มิถุนายน และ กันยายน 2551 ขณะที่เสื้อเหลืองกำลังยึดทำเนียบรัฐบาลและท้องถนน กป.อพช.เรียกร้องให้รัฐบาลเคารพสิทธิเสรีภาพของพันธมิตรฯ ในการชุมนุมอย่าง สงบต่อมาในเดือนมิถุนายน กป.อพช.ได้เรียกร้องให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งลาออก ในช่วงนั้น ส.ว. เอ็นจีโอรสนา โตสิกตระกูล ก็ออกมาพูดว่ารัฐบาลไม่มีสิทธิ์สลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ ด้วย และรัฐบาลในครั้งนั้นก็ไม่ได้ใช้กำลังทหารหรืออาวุธปืนสลายการชุมนุม ทั้งๆ ที่พันธมิตรฯ มีการใช้อาวุธปืนและระเบิด อย่างไรก็ตามการใช้ก๊าซน้ำตาอย่างไม่ถูกต้องโดยตำรวจอาจทำให้ผู้ประท้วงเสียชีวิตหนึ่งคนในวันที่ 7 ตุลาคม  แต่เมื่อเสื้อแดงออกมาประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ในเดือนเมษายนปี 2552 กป.อพช.ได้เรียกร้องให้เสื้อแดงยุติการชุมนุม ที่รุนแรงมีการเรียกร้องให้รัฐบาลใช้แต่วิธีที่ถูกกฎหมายในการสลายการชุมนุม และยิ่งกว่านั้นหลังจากที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้กองทหารติดอาวุธยิงประชาชน จนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก ไม่มีการขอให้รัฐบาลลาออกแต่อย่างใด แย่กว่านั้นคือ องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายเอดส์ และสลัมสี่ภาค ภายใต้การนำของ สารี อ๋องสมหวัง และนิมิตร์ เทียนอุดม ได้ออกมาประณามเสื้อแดงโดยไม่ประณามรัฐบาล  เป็นไปได้อย่างไรที่องค์กร เอ็นจีโอไทย เลือกข้างอำมาตย์ และต่อต้านคนจนและประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่นักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ เริ่มต้นจากการปกป้องประชาธิปไตย และการใช้คำขวัญที่เคารพคนจน เช่น คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ? ผู้ที่อยู่ในแวดวง เอ็นจีโอ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ถ้ายังรักประชาธิปไตยและต้องการสังคมที่เป็นธรรม จะต้องรีบทบทวนบทบาทของ เอ็นจีโอ ในครั้งนี้  ถ้าจะหาคำอธิบายว่าทำไม เอ็นจีโอไทย ถึงหันขวาจนมามีจุดยืนข้างอำมาตย์ เราจะต้องหลีกเลี่ยงเรื่องการใช้คำอธิบายที่เน้นนิสัยใจคอส่วนตัว หรือความหวังดีหวังร้ายของบุคคล ประเด็นที่สำคัญกว่ามากคือการ ปฏิเสธการเมืองการเน้นแนวปฏิบัติเฉพาะกาล และการที่ เอ็นจีโอ ขาดความโปร่งใสและการมีประชาธิปไตยภายใน เอ็นจีโอ ไม่ใช่องค์กรมวลชนที่มีสมาชิกจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้นักเคลื่อนไหวมีเสรีภาพปัจเจกจนมองข้ามการควบคุมโดยมวลชน ตัวอย่างที่ชัดเจนสุดคือคนที่เป็น ส.ว.จากการเลือกตั้ง สายเอ็นจีโอซึ่งขาดวัฒนธรรมการถูกตรวจสอบควบคุมโดยประชาชน  หลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ผู้ที่ก่อตั้ง เอ็นจีโอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตสมาชิกหรือผู้สนับสนุนพรรคฯ ได้ทบทวนแนวทาง และหันมาใช้การเคลื่อนไหวที่ลดความสำคัญของ การเมืองโดยเน้นการเป็น ผู้ปฏิบัติแต่ปฏิบัติในเรื่องประเด็นเดียวแยกส่วน มีการรับแนวคิดอนาธิปไตย ที่หันหลังให้รัฐ และปฏิเสธการสร้างพรรคอีกด้วย  จุดยืนดังกล่าวเข้าใจได้ว่าเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากข้อเสียของพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งในเรื่องความเป็นเผด็จการ และความล้มเหลวในการต่อสู้ และมันเกิดขึ้นในช่วงนั้นทั่วโลก การเคลื่อนไหวประเด็นเดียวที่ลดเรื่อง การเมืองก็เข้าใจได้ เพราะสอดคล้องกับการขอทุนเพื่อโครงการของ เอ็นจีโอ แต่การเข้าใจเหตุผลนั้น ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง เพราะอย่างน้อยสุดเราต้องตั้งคำถามว่าทำไมมันนำไปสู่จุดยืนปัจจุบัน  ในการใช้แนวอนาธิปไตย เอ็นจีโอ มักจะต่อต้าน ประชาธิปไตยแบบผู้แทนเพราะมองว่านำไปสู่การเมืองน้ำเน่าและการซื้อขายเสียง แต่การเสนอ ประชาธิปไตยทางตรงมาแทน ซึ่งเป็นระบบที่คนในชุมชนมาประชุมกันเพื่อกำหนดทิศทางของชุมชน และต่อรองโดยตรงกับรัฐ มีหลายๆ ปัญหา เพราะมันเป็นนามธรรม มันมองแค่ชุมชนตนเอง อาจเพิ่มอิทธิพลของผู้นำชุมชนอนุรักษ์นิยม และไม่มีอำนาจแท้ในการต่อรองกับรัฐ ยิ่งกว่านั้น การปฏิเสธ ประชาธิปไตยระบบผู้แทนนำไปสู่การมองว่า รัฐสภาที่มีเสียงข้างมากของ ไทยรักไทย ไม่แตกต่างอะไรจากการทำรัฐประหารของทหาร และมันเปิดประตูสู่การเมืองเผด็จการระเบียบใหม่ของพันธมิตรฯ อีกด้วย เพราะมันเป็นการปฏิเสธระบบเลือกตั้ง จริงๆ แล้ว เอ็นจีโอ ทั่วโลก ไม่เคยมีการเลือกตั้งภายในแต่ละองค์กร ซึ่งแตกต่างจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมบางชนิด เช่นสหภาพแรงงาน หรือพรรคการเมืองบางพรรค  ปัญหาการเมืองอีกอันหนึ่งของ เอ็นจีโอ คือการหันมาใช้การเมืองแห่ง การล็อบบี้คือไม่สนใจว่ารัฐบาลจะเป็นใคร ไม่สนใจว่ามาจากการเลือกตั้งหรือไม่ จะใช้โอกาสในการติดต่อโดยตรงและชักชวนกดดันรัฐบาล ดังนั้นจะเห็นว่า เอ็นจีโอ ยินดีล็อบบี้ทั้ง รัฐบาลทักษิณ รัฐบาลเผด็จการ คมช.และรัฐบาลเผด็จการอภิสิทธิ์ เราต้องเข้าใจตรงนี้ว่า การล็อบบี้เป็นการขอเข้าพบ มีแง่ของการผูกมิตรกับคนมีเส้นสาย ซึ่งต่างจาก การรณรงค์ที่อาจทิ้งระยะห่างจากรัฐบาลได้ในขณะที่มีการเรียกร้อง และการรณรงค์มักเน้นการสร้างมวลชนเป็นหลัก แทนการต่อสายกับคนที่มีอำนาจ ทั้งสองวิธีเป็นการเคลื่อนไหวรูปธรรม แต่ผลจะต่างกัน แนวคิดเรื่องการล็อบบี้ เป็นการแสวงหาผู้มีอำนาจ มันอธิบายได้ว่าทำไม คนอย่าง พิภพ ธงไชย และสมศักดิ์ โกศัยสุข วิ่งเข้าไปหาฝ่ายเหลืองอนุรักษ์นิยมเพื่อสร้างพันธมิตรฯ เพราะตนเองไม่มีพลังมวลชน และห่างเหินจากคนรากหญ้ามานาน  ทั้งๆ ที่ เอ็นจีโอ ตื่นเต้นกับชัยชนะของ ไทยรักไทย ในช่วงเริ่มต้น แต่ในไม่ช้าก็ผิดหวังและโกรธแค้นรัฐบาล สาเหตุสำคัญที่สุดคือ นโยบายที่เป็นรูปธรรมของ ไทยรักไทย ทำให้ฐานมวลชนของ เอ็นจีโอ หดลง เพราะประชาชนเห็นว่า การเมืองมีประสิทธิภาพมากกว่าโครงการของ เอ็นจีโอ หลายเท่า นอกจากนี้ เอ็นจีโอ ไม่เคยไว้ใจการใช้รัฐในการแก้ไขปัญหาความยากจน นโยบายอนาธิปไตยชุมชนที่หันหลังให้รัฐอันนี้ของ เอ็นจีโอ ไปด้วยกันได้กับแนวเสรีนิยมกลไกตลาดที่ต้องการให้รัฐเล็กลง และให้คนดูแลตนเอง ของพรรคประชาธิปัตย์และอำมาตย์ มันไปด้วยกันได้กับเศรษฐกิจพอเพียง  ความโกรธแค้นของ เอ็นจีโอ ต่อการที่ชาวบ้านเลือก ไทยรักไทย ทำให้ เอ็นจีโอ เปลี่ยนจุดยืนมาดูถูกชาวบ้านว่า เข้าไม่ถึงข้อมูล” (โง่) และ ถูกหลอกโดย ไทยรักไทยจริงๆ แล้วในการทำงานของ เอ็นจีโอ และการทำงานสายแรงงานของคนอย่าง สมศักดิ์ มันมีหน่ออ่อนของการมองว่าคนธรรมดาขาดความสามารถ เพราะองค์กรเหล่านี้มีวัฒนธรรมในการส่ง คนที่เขาเองเรียกว่า พี่เลี้ยงลงไปสอนหรือดูแลชาวบ้านหรือคนงาน ไม่ค่อยมีการปลุกระดมให้คนนำตนเอง  สถานการณ์ทางการเมืองในไทย ตั้งแต่ปี 2549 เป็นสถานการณ์ที่สร้างความสับสนได้ ข้างหนึ่งมีรัฐบาลของทักษิณ ซึ่งเป็นรัฐบาลพรรคเศรษฐีนายทุน ซึ่งมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้และสงครามยาเสพติด อีกข้างหนึ่งคือพวกอำมาตย์ ซึ่งล้วนแต่เป็นเศรษฐีนายทุนด้วย และมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันยาวนานมาตั้งแต่ 14 ตุลา เรื่อยๆ มา การที่ เอ็นจีโอ ไม่สนใจทฤษฏีการเมือง หรือการถกเถียงเรื่องการเมืองไทยและสากล ทำให้ เอ็นจีโอ วิเคราะห์ไม่ออกว่าคนจนเลือก ไทยรักไทย มาด้วยเหตุผล มันทำให้แยกไม่ออกระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐประหาร อย่างน้อยที่สุด เอ็นจีโอ ควรจะต้านรัฐประหารและทำตัวเป็นกลางไม่เลือกข้างใคร แต่แทนที่จะทำตรงนั้นกลับเข้าข้างเสื้อเหลือง นอกจากนี้ วัฒนธรรม พี่เลี้ยงมีผลทำให้นักเคลื่อนไหว เอ็นจีโอ เกรงกลัวการตื่นตัวและการจัดตั้งกันเองของพลเมืองเสื้อแดง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เสื้อแดงมีความคิดหลากหลายและหลายส่วนอาจใช่เทวดา แต่ในที่สุดประชาธิปไตยต้องมาจากการจัดตั้งกันเองและการเคลื่อนไหวของพลเมืองรากหญ้า ซึ่งย่อมไม่ขาวสะอาดบริสุทธิ์อยู่แล้ว ที่สำคัญประชาธิปไตยไม่เคยมาจากทหาร อำมาตย์ หรืออภิสิทธิ์ชน  สรุปแล้ว เราสามารถฟันธงได้ว่า ณ บัดนี้ เอ็นจีโอและเครือข่าย ภาคประชาชนเก่าในไทยหมดสภาพของการเป็น ขบวนการภาคประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม คนที่รักประชาธิปไตยและอยู่ข้างคนจนในไทย ไม่สามารถทำงานกับ เอ็นจีโอ กระแสหลักได้ จนกว่าจะมีการทบทวนบทบาท  บทเรียนสำคัญจากช่วงประวัติศาสตร์นี้คือ  1. ประเด็นเรื่องแหล่งทุนสำหรับ เอ็นจีโอ โดยเฉพาะทุนที่มาจากรัฐ (หรือธนาคารโลก) สร้างปัญหา เพราะเป็นแรงจูงใจให้ เอ็นจีโอ เลิกวิจารณ์รัฐ และเลิกวิจารณ์แนวกลไกตลาดเสรีของกลุ่มทุนใหญ่ตามแนวธนาคารโลก 2. การเมืองแห่งการล็อบบี้ เสี่ยงต่อพฤติกรรมการฉวยโอกาส ทำงานกับใครก็ได้ เพื่อผลตอบแทนทางการเมือง 3. การหันหลังให้ การเมืองและทฤษฏี และการรับแนวอนาธิปไตย ทำให้ เอ็นจีโอ วิเคราะห์ปัญหายากๆ ไม่ค่อยได้ ถ้าจะแก้ปัญหานี้ ต้องมีการเพิ่มประเด็นการเมืองและการแลกเปลี่ยนอย่างจริงจัง


4. มวลชนคนเสื้อแดง เป็นความหวังในการสร้างประชาธิปไตยสมัยใหม่ของไทย