Thai / English

เนื่องในวันแรงงาน ขอมอบบทกวีให้สำหรับนักข่าว ที่อึดอัด สงสัย กระทั่งเสียใจ เมื่อรู้ว่ามีเรื่องไม่โปร่งใสเกิดขึ้นในบ้าน (บริษัท) ของตัวเอง  ที่ว่าเสียใจนั้น ทำนองว่า คุณได้รับการอบรมสั่งสอน และเคี่ยวกรำมาอย่างหนักหน่วงจากรุ่นพี่หรือหัวหน้างานของคุณว่า "เรามีหน้าที่ตรวจสอบให้บ้านเมืองโปร่งใสที่สุด" แต่เมื่อคุณทำงานไปได้สักระยะ คุณกลับพบว่าเป็นคนใกล้ตัวและอยู่ในบ้านของคุณเองที่เริ่มทำเรื่องสกปรก! และไม่ว่าคุณจะพยายามทำความสะอาดเท่าไหร่ (เพราะคุณได้รับการฝึกมาแบบนี้)  แต่คุณก็ยังถูกห้ามปรามไว้ (จะเรียกว่าสกัดดาวรุ่งหรือเซ็นเซอร์) อะไรก็แล้วแต่ คุณอาจรู้สึกสูญเสียพลังหนุ่มสาวไปมาก และทำได้เพียงแค่อดทน? ประเด็นนี้ สามารถโยงมาที่วันสำคัญอย่างวันแรงงานนี้ได้อย่างน่าสนใจ เพราะขณะที่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานก้มหน้าก้มตาทำงานเพื่อค่าแรงขั้นต่ำและสวัสดิการพื้นฐานทางชีวิตอื่นๆ ที่เขาจำเป็นต้องมี ไม่ใช่มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ (ซึ่งบางคนอาจไม่รู้สึกว่าจำเป็น เพราะความเป็นศิลปิน, ฐานันดรที่ 4 หรือความมั่นคงทางวิชาชีพของคุณนั้นเพียงพออยู่แล้ว) ส่วนวันแรงงานนั้น ถ้ามันเป็นพิธีกรรม ก็เป็นวันที่เขาพร้อมใจกันจัดพิธีกรรมเพื่อประกาศเจตจำนงถึงสถานะของตัวเองได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลจะกล้าประกาศยกเลิกวันแรงงานทิ้งเสีย และปล่อยให้สังคมผู้มั่งคั่ง สาปแช่งกันต่อไปว่าทำให้รถติด! และทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย ผู้ใช้แรงงานตามความเข้าใจทางสังคมที่เป็นแรงงานจริงๆ นั้น เขาเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีก็บอกว่าไม่มี ถ้าอยากได้ เขาก็บอกว่าอยากได้ และทำตามกระบวนการที่ชอบธรรมทุกอย่างเพื่อบรรลุเป้าประสงค์นั้น แม้จะมี "ขบวนการ" คอยโค่นล้มการจัดตั้งของพวกเขามาตลอด เช่น การจัดตั้งสหภาพแรงงาน ที่ไม่มีเจ้าของกิจการ-ผู้บริหารคนไหนกล้า หรือใจกว้างพอสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่าง "จริงใจ" แม้จะเป็นผู้บริหารที่ประกาศความเที่ยงธรรม-โปร่งใสให้ตนเองก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า การเรียกร้องอย่างตรงไปตรงมาของผู้ใช้แรงงานนั้น คือ การยืนยัน "ความเท่ากัน" และ "เป็นธรรม" อย่างชัดเจนที่สุด ขณะที่การตั้งคำถาม ต่อเพื่อนนักข่าว หัวหน้าข่าว บรรณาธิการ หรือแม้แต่ผู้บริหารระดับสูง ในเรื่องที่คุณเคลือบแคลงสงสัยและอยากเห็นความกระจ่าง คุณไม่สามารถทำได้ อาจเนื่องมาจากข้ออ้างทางวัฒนธรรมองค์กร หรือวัฒนธรรมเคารพผู้อาวุโส คุณก็ได้แต่ลืมๆ ไป เช้าวันรุ่งขึ้นคุณก็ต้องเผชิญกับกระแสธารข่าวสารที่ทะลักล้นวันต่อวัน ที่น่าแปลกใจ คือ ในขณะที่ "แรงงาน" ทำงานหนักเพื่อแลกข้าวเป็นอันดับแรก เมื่อได้ไม่เต็มอิ่มอย่างที่ควรจะเป็น ก็เรียกร้องให้ได้จนเต็มอิ่ม ใช่หรือไม่ว่า สำหรับนักข่าวแล้วจะทำงานหนักเพื่อแลกกับสิ่งใดถ้าไม่ใช่เสรีภาพ เมื่อคุณรู้สึกว่าเสรีภาพมันพร่องไปเพราะนายจ้างของคุณไม่เปิดโอกาสให้ ทำไมคุณถึงทน แม้รู้ทั้งรู้ว่ามันไม่อิ่ม นี่ยังไม่ต้องกล่าวถึงการแทรกแซงสื่อจากรัฐบาลเลย หากคุณยินดีที่จะปิดหูปิดตาตัวเองแล้วก็จบ! และอย่าอ้างนะว่า "บางเรื่องก็ไม่สามารถพูดได้ เพราะวัฒนธรรมบ้านเราเป็นแบบนี้” แต่คุณจะปฏิเสธวิธีการเล่าเรื่องอย่างแนบเนียน เพื่อให้สารนั้นได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างหรือ   ถ้าคุณปฏิเสธ เช่นนั้นแล้วองค์กรสื่อในรูปของบริษัทจำกัด/จำกัด (มหาชน) จะต่างอะไรกับองค์กรที่เพียงแต่แสวงหากำไร โดยมี "ข่าว" เป็นสินค้าชั้นดี เพราะผู้บริโภคเชื่อถือ ถ้าคุณประกาศความภาคภูมิใจต่อวิชาชีพของคุณ แต่เป็นความภาคภูมิใจในการล่องคลื่นเกมส์การเมือง ที่บางครั้งคุณก็ลืมไปว่าตัวเองกำลังเป็นผู้เล่นเสียเอง คุณยังรู้สึกว่าเป็นวิชาชีพที่เท่อยู่ไหม นักข่าวที่รัก หากคุณประสบภาวะเช่นนี้ คุณย่อมรู้แก่ใจดี หลังจากนั้นเป็นเรื่องที่คุณต้องตัดสินใจเอง...              สะอึกสะอื้นไห้ พ่ายแพ้หรือไรหนอ            น้ำตาคลอ น้ำมูกเยิ้ม น้ำลายไหลหัวปั่น ฟั่นเฟือน หรือกระไรกระซิบได้ภายในว่าไหวหวั่นตอบวันนั้น หนึ่งผยอง สองตั้งคำถามกับอาณาจักรที่คุกคามความใฝ่ฝันเป็นบรรษัท(มหาชน) มาหาชัยกัน?ที่จริงเพียงจริงนั้น หรือนิยมการมุสาเอาล่ะ--มันไม่ใช่เรื่องของเด็กเป็นเรื่องเล็กของคนธุรกิจหนาเราทำได้เพียงแค่เดินออกมาพ้นชายคาโครงสร้างการหน้าไหว้ฯ.....เราทำได้ แค่เพียงเสวนาเดินออกมาขีดเส้นสัจจะเอง