Thai / English

ปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์  แรงงานไทยบนเส้นทางทุนนิยม
.ดร.แล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2551 ที่ห้องประชุม 209 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์ ครั้งที่ 20 ในหัวข้อ แรงงานไทยบนเส้นทางทุนนิยมจัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เริ่มต้นปาฐกถา

เมื่อจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ผมรู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกว่าจะไม่ต้องทำงานอะไรที่ต้องเซ็นชื่อ ต้องเข้าออกตามเวลา ต้องทำอะไรที่มีกำหนดเส้นตาย แต่ตลอดเวลาเกือบหนึ่งปีนับแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ มีเหตุการณ์หลายครั้งที่ทำให้ผมรู้สึกว่าผมคาดผิด ตรงกันข้ามความเครียดอันเกิดจากความตื่นเต้นแบบเดิมๆ ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มรับรู้ว่า จะต้องพูดในปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์ ซึ่งผมคุ้นเคยในฐานะผู้เกี่ยวข้อง ในฐานะลูกมือ ในงานอันทรงเกียรตินี้มาแต่ต้น แต่ไม่เคยคิดว่าจะได้รับเกียรติให้เป็นผู้แสดงเอง ผมจึงเครียดมาแต่บัดนั้น

 อาการเครียดดังกล่าวมาหนักขึ้นอย่างถึงที่สุดเมื่อคืนวานนี้เอง เมื่อท่านศาสตราจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา หรือที่พวกเราเรียกท่านว่าอาจารย์ฉัตรทิพย์ ได้โทรหาผมและบอกว่า จะเป็นผู้แนะนำตัวผมให้กับผู้ฟัง ที่คิดอะไรไม่ค่อยออกอยู่แล้วก็เลยถึงกับลนว่าจะเอายังไงกันดี รู้ว่าความซึ่งท่านจะแนะนำนั้นจะน่าฟังกว่าสิ่งที่ผมจะพูดมากนัก หรือพูดไม่ได้ขนาดที่ท่านเคยฟังปาฐกถาชุดนี้คาดหวัง เพราะผมคุ้นเคยกับเรื่องที่จะพูดในแบบที่ไม่รู้จะพูดอะไรดี จับต้นชนปลายไม่ถูก มันเหมือนปลากับน้ำ จะให้ปลามาบอกว่าอยู่ในน้ำเป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้นถ้าจะทำได้ก็ต้องทำตัวเป็นกบ คือลงน้ำบ้าง ขึ้นบกบ้าง มองจากข้างนอกเข้ามา สลับกันมองจากข้างในออกไป เรียกว่าสวมวิญญาณนักวิชาการสลับกับการมองจากมองแง่มุมของเพื่อนผู้ใช้แรงงานเท่าที่จะเป็นได้

ผมอยากเริ่มปาฐกถาสุภา ศิริมานนท์ ด้วยจุดยืนของอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ หรืออาจเรียกว่า สปิริตแบบสุภา ศิริมานนท์ คนที่รู้จักผลงานและตัวท่านอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ จะทราบว่า อาจารย์สุภา ท่านมีโลกทรรศน์และจุดหมายปลายทางแห่งอุดมการณ์ชัดเจน นั่นคือภราดรภาพแห่งความเป็นมนุษย์ ท่านเชื่อว่า โลกที่เป็นสันตินั้น เป็นความปรารถนาของมนุษย์ แต่สันติจะพึงมีก็ด้วยการปลดปล่อยเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากการถูกกดขี่ โดยเฉพาะจากระบบสังคมที่เป็นอยู่ นั่นคือ ระบบทุนนิยม ซึ่งมีชนชั้นผู้ใช้แรงงานเป็นเหยื่อของการขูดรีด เอารัดเอาเปรียบ การพูดเรื่องแรงงานไทยบนเส้นทางทุนนิยมในวันนี้ ผมเชื่อว่าเป็นการสืบทอดการเดินทางบนเส้นทางความคิดของอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ และเป็นการพูดถึงปัญหาของผู้คนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นฐานรากของแผ่นดินในปัจจุบันโดยแท้ ประเด็นมีอยู่ว่า ปรากฎการณ์ที่เป็นอยู่ในวันนี้ ต่างกันเพียงใดกับที่ท่านอาจารย์สุภาเห็น เมื่อมีชีวิตอยู่ก่อนเดือนมิถุนายน 2529 และทิศทางของเหตุการณ์ในวันนี้เป็นเช่นที่ท่านคาดหวังเพียงใดมีอะไรผลักดันให้เกิดการเคลื่อนตัวหรือความผันผวน ถ้าหากจะเป็นหรือไม่เป็นเช่นที่ท่านคาดคะเน

ในบันทึกของผู้เรียบเรียง แคปิตะลิสม์” (*) (สุภา ศิริมานนท์) อันเป็นบทบรรยายให้กับนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อฤดูร้อนปี 2494 ซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม อันเปรียบได้กับอนุสาวรีย์ของท่านอาจารย์สุภา หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงาน และพัฒนาการของความสัมพันธ์ดังกล่าวไว้ดังต่อไปนี้

(*) Das Kapital (Capital, in the English translation) is an extensive treatise on political economy written in German by Karl Marx and edited in part by Friedrich Engels. The book is a critical analysis of capitalism and its practical economic application and also, in part, a critique of other related theories. Its first volume was published in 1867.
 The central driving force of capitalism, according to Marx, was in the exploitation and alienation of labour. The ultimate source of the new profits and value-added was that employers paid workers the market value of their labour-capacity, but the value of the commodities workers produced exceeded that market value. Employers were entitled to appropriate the new output value because of their ownership of the productive capital assets. By producing output as capital for the employers, the workers constantly reproduced the condition of capitalism by their labour. However, though Marx is very concerned with the social aspects of commerce, his book is not an ethical treatise, but an attempt to explain the objective "laws of motion" of the capitalist system as a whole, its origins and future. He aims to reveal the causes and dynamics of the accumulation of capital, the growth of wage labour, the transformation of the workplace, the concentration of capital, competition, the banking and credit system, the tendency of the rate of profit to decline, land-rents and many other things.(อ่านเพิ่มเติมใน http://en.wikipedia.org/wiki/Das_Kapital)

ในพัฒนาการของระบบแคปิตะลิสม์นั้น สมรรถวิสัยในการผลิตได้มีการขยายตัวออกและขยายตัวออกกว้างขวางอยู่โดยไม่ยับยั้ง แต่การณ์กลับปรากฎว่า สิ่งที่คนงานและมหาชนส่วนใหญ่ได้รับเพื่อการดำรงชีพ ได้มีปริมาณน้อยลงและน้อยลงอยู่เรื่อยๆ อย่างไม่ได้ส่วนสัมพันธ์กันเลย กับอำนาจการผลิตที่ยิ่งใหญ่ขึ้นและยิ่งใหญ่ขึ้น

จริงหรือไม่ที่ประสิทธิภาพในการผลิตของอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยม ได้เพิ่มพูนในอัตราที่มิอาจคำนวณนับได้ การผลิตรถยนต์ แม้ในประเทศไทยเองใช้เวลาไม่เกินคันละหนึ่งนาทีมิไยจะต้องเอ่ยถึงเวลาที่ใช้ในประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว ประสิทธิภาพการผลิตดังกล่าวนั้น ได้อาศัยความโลภและความเห็นแก่ตัวอันเป็นจิตวิญญาณการพื้นฐานของฝ่ายทุน ในการขับดันให้มีการขยายความสัมพันธ์ในเชิงขูดรีดต่อกันไปสู่ปริมณฑลทั่วโลก ในคราบของระบบตลาดเสรีและกระบวนการโลกาภิวัตน์ของทุนนิยม กระบวนการโลกาภิวัตน์ของทุนดังที่เห็น จึงเป็นกระบวนการล่าแรงงานราคาถูกอย่างที่มิอาจคิดเป็นอย่างอื่นไปได้

ส่วนแรงงานนั้นเล่า เมื่อเทียบกับการเติบโตของฝ่ายทุนแล้วก็เท่ากับเป็นการเดินหน้าแบบหันหลังให้กันโดยแท้ ในขณะที่ฝ่ายทุนถามว่าจะขยายการเติบโตไปลงทุนต่อที่ไหนดี ฝ่ายแรงงานถามว่าเมื่อทุนย้ายฐานการผลิตไปจีน เวียดนามแล้วเราจะอยู่อย่างไร การเติบโตของฝ่ายทุนตั้งอยู่บนการสลัดคราบของดักแด้เพื่อกลายเป็นผีเสื้อ ความรุ่งเรืองของทุนถูกจุดให้ลุกโชนด้วยพลังงานอีกชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า ทรัพยากรมนุษย์หาไม่ก็แรงงาน จนแม้การกำหนดค่าตอบแทนการทำงานก็กำหนดจาก ประสิทธิภาพหรือ ผลิตภาพอันเป็นมูลค่าตอบแทน วัตถุปัจจัยที่ทำกำไรให้แก่ผู้ครอบครอง หาได้กำหนดจากความจำเป็นของคนคนหนึ่ง ในอันที่จะรักษาชีวิตและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ไว้ไม่ คนงานนั้นมักได้รับการสวนกลับข้อเรียกร้องที่ขอเพิ่มค่าจ้างค่าตอบแทนด้วยความว่า ถ้าค่าแรงเพิ่ม ความสามารถแข่งขันก็จะลด สู้เขาไม่ได้ก็ต้องปิดโรงงานย้ายไปที่อื่นเวลาคนงานเรียกร้องให้รัฐเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ นายจ้างก็จะขู่รัฐว่า ถ้าเพิ่มค่าจ้างก็ต้องปลดคนงาน เหล่านี้เป็นข้อความที่ได้ยินกันจนชินหู ที่น่าสนใจคือชินหู มันชินเสียจนเข้าใจกันว่า สิ่งที่เรียกว่า คำอธิบายเช่นนี้คือ ความจริง คือสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ในที่สุดข้ออ้างเช่นนี้ก็กลายเป็นความเชื่อกันโดยทั่วไปในสังคม อันหมายความว่า การเรียกร้องของคนงานให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เป็นสิ่งที่ขัดกับความเจริญของบ้านเมือง ด้วยเหตุนั้นความเจริญของบ้านเมืองจะมีขึ้นได้  ก็ด้วยความเสื่อมโทรมของผู้ใช้แรงงาน และแรงงานก็ไม่ใช่พื้นฐานของบ้านเมือง

ปรากฎการณ์ดังกล่าวนั้นมิได้เกิดขึ้นลอยๆ อันที่จริงเป็นผลสุทธิของความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงภายในกรอบความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายแรงงาน ฝ่ายทุนและรัฐมาตลอด ทั้งในปริมณฑลที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งในระบบและนอกระบบ ผู้ที่ศึกษาความเป็นมาของขบวนการแรงงานในประเทศไทยต่างก็ทราบดีว่า นับตั้งแต่ถูกยึดโยงเข้าสู่ความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยม ผู้ใช้แรงงานก็ได้ดิ้นรนต่อสู้กับพันธนาการของทุนและรัฐตลอดมา นับตั้งแต่กระทำการตามลำพังไม่ว่าจะอู้งาน หนีงาน ไปถึงการรวมตัวกันต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเฉพาะกิจ เฉพาะหน้า หรืออย่างยั่งยืนถาวร ทั้งที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการเมื่อสามารถกดดันให้รัฐยอมรับการมีตัวตนของพวกตน หรือรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อต่อสู้เป็นเรื่องๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นการนัดหยุดงานแบบไม่อาศัยขั้นตอนกฎหมาย หรือการรวมตัวประท้วงเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะและโดยฉับพลัน เช่นการตอบโต้การที่นายจ้างไล่ผู้นำแรงงานออก เป็นต้น

ทุนนิยม เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นที่น่าสนใจว่านับตั้งแต่เข้าสู่ความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยม เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา พัฒนาการของความขัดแย้งและการปรับตัวระหว่างฝ่ายทุนกับแรงงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อแรกนั้นทุนยังไม่มีบทบาทในการชี้นำรัฐให้วางกฎเกณฑ์และใช้กลไกเอื้อประโยชน์ต่อพวกตนได้อย่างชัดแจ้ง การยอมรับการรวมตัวของแรงงานโดยฝ่ายรัฐเป็นแต่เพียงการสร้างภาพลักษณ์ ให้เข้าได้กับประชาคมระหว่างประเทศเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้ผู้ใช้แรงงานได้จดทะเบียนสหบาลกรรมกร หรือสหภาพแรงงานดังที่สู้กันในปัจจุบัน หรือการออกพระราชบัญญัติแรงงานเมื่อปี 2499 ก็ตาม ความจริงจังในการใช้กลไกอำนาจรัฐเพื่อให้เป็นไปตามนั้นยังคงไม่มีผลอย่างแท้จริง การคุ้มครองสิทธิ์ขั้นพื้นฐานหรือการปกป้องผู้ใช้แรงงานจากการขูดรีดของทุนยังคงไม่เป็นผลอะไรนัก นายทุนยังคงอาศัยระบบอุปถัมภ์ภายใต้กลไกที่อ่อนแอของรัฐขูดรีดแรงงานเพื่อการสะสมทุนในเบื้องต้น

ดังที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ระบบทุนนิยมสามารถคืบคลานเข้าครอบงำกลไกอำนาจรัฐได้อย่างเต็มที่ ก็เมื่อฝ่ายทุนสามารถเข้าควบคุมอำนาจรัฐแทนระบบข้าราชการและทหาร โดยการตั้งพรรคการเมืองและปรับระบบการเมืองให้เอื้อต่อการทำงานของระบบทุน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในขณะที่ฝ่ายแรงงานก็ใช้เงื่อนไขความเสรีภาพทางการเมือง และการเคลื่อนไหวของฝ่ายสังคมนิยม สร้างสมอำนาจจากการรวมตัวทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

ในท่ามกลางกระแสการเติบโตของขบวนการแรงงานนั้น ปฎิกิริยาตอบโต้ของฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐมีแตกต่างกันไป ขณะที่ฝ่ายทหาร ข้าราชการ ซึ่งกุมอำนาจรัฐอยู่แต่เดิมขัดขวางการก่อตัวด้วยการกำจัดหรือจับกุมคุมขัง, ฝ่ายทุนใช้วิธีการยอมรับในบางระดับ ด้วยการดึงและแปลงให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม เช่น ให้จดทะเบียนเพื่อแลกกับสิทธิบางอย่างและข้อจำกัดบางอย่าง เช่นห้ามนัดหยุดงานผิดขั้นตอนที่รัฐกำหนด หรือในกิจการที่รัฐกำหนด ปรากฎการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้นำแรงงานบางคน หรือผู้ใช้แรงงานบางกลุ่มไม่ยอมรับการกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบดังกล่าว และพอใจที่จะรวมกันบนพื้นฐานของความสมัครใจ และบนพื้นฐานผลประโยชน์ที่หลากหลายกว่าที่ทางการกำหนด

อย่างไรก็ตาม แม้ในกลุ่มที่รวมตัวตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด ผู้คนเหล่านี้ก็พยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเปิดพื้นที่ให้ลดทอนข้อจำกัดของรัฐลง สหภาพแรงงานที่จดทะเบียนตามกฎหมายก็พยายามใช้สิทธิ์ของตน เรียกร้องให้ยกเลิกข้อจำกัดห้ามนัดหยุดงาน หรือเรียกร้องให้เปิดพื้นที่ให้มีการเจรจาต่อรองในกิจการต้องห้ามได้มากขึ้น โดยการเรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศ ให้สิทธิผู้ใช้แรงงานในมาตรฐานเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว

ฝ่ายทุนทำอะไรกับองค์กรแรงงานที่เป็นทางการ?
เพื่อจะได้ตัวตนทางกฎหมาย ฝ่ายแรงงานต้องยอมแลกเอาสิทธิที่จะรวมตัวกันเจรจาต่อรอง ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐกำหนดเป็นเงื่อนไขที่จะจดทะเบียนให้ เงื่อนไขที่สำคัญ คือ แรงงานต้องยอมรับว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการตัดสินใจสะสมทุน กล่าวคือ กฎหมายยอมให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิเรียกร้องและต่อรองปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือเรื่องปากท้อง อันได้แก่ อัตราค่าจ้างและสวัสดิการซึ่งเรียกว่าสภาพการจ้างงานเท่านั้น การเรียกร้องขอมีส่วนในอำนาจการตัดสินในการบริหารและการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายของธุรกิจ เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือสภาพการจ้าง อันหมายความว่าต่อรองไม่ได้ การเรียกร้องสิทธิดังกล่าว หากมีผลถึงการนัดหยุดงานจนทำให้กระบวนการสะสมมูลค่าส่วนเกินสะดุดหยุดชะงัก ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้จะเรียกกฎหมายนี้ว่ากฎหมายแรงงานก็ตาม จะเห็นได้ว่ามองจากแง่มุมนี้ กฎหมายแรงงานจึงเป็นกลไกอำนาจรัฐที่ทำหน้าที่ประคับประคองกระบวนการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินให้ดำเนินไปอย่างเป็น ปกติ

อย่างไรก็ตาม การรวมตัวและการใช้สิทธิภายใต้ความเป็นองค์กรตามกฎหมาย ยังมีข้อจำกัดอีกมาก อาทิเช่น คนงานที่มีส่วนเกื้อกูลกระบวนการผลิตในระบบทุนนิยม แต่มีอำนาจต่อรองสูง เช่น ผู้ที่อยู่ในภาคราชการ การเงิน กิจการที่ถูกเรียกว่า บริการที่จำเป็นสำหรับสาธารณชน เช่น โรงพยาบาล เชื้อเพลิง เหล่านี้จะถูกห้ามไม่ให้มีสิทธิรวมตัวเพื่อนัดหยุดงาน รวมทั้งแรงงานรัฐวิสาหกิจ แม้หลักการทั่วไปแรงงานจะมีสิทธินัดหยุดงาน แต่รัฐยังมีสิทธิที่จะเข้าแทรกแซง โดยระงับใช้สิทธิดังกล่าวด้วยการใช้ข้ออ้างว่า เป็นการก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

จะเห็นได้ว่า แม้จะได้การรับรองทางกฎหมายแต่จำนวนผู้คนและช่องทางที่จะใช้กฎหมายปกป้องให้พ้นจากการขูดรีดภายใต้ความสัมพันธ์ของระบบทุนนิยมนั้นมีน้อยมาก การจะใช้สิทธิได้แต่ละครั้ง เต็มไปด้วยเงื่อนไขซึ่งประกันว่ากระบวนการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจะไม่ถูกกระทบกระเทือนหรือทำให้สะดุด หยุดชะงัก

สำหรับแรงงานที่อ่อนแอกว่า ไม่สามารถรวมตัวจัดตั้งเป็นองค์กรได้ก็อาจได้รับการคุ้มครองให้ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งรัฐจำเป็นต้องออกกฎหมายเช่นนี้มา จะด้วยทนต่อแรงกดดันของขบวนการแรงงานภายในประเทศ หรือพยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยตามประชาคมระหว่างประเทศก็ตาม โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งได้เกิดขบวนการปรับภาพลักษณ์ของฝ่ายทุนด้วยการสร้างเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ อย่างใหม่ขึ้นที่เรียกว่า มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งจะโดยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ที่แน่ๆ คือ ฝ่ายทุนพยายามทำหน้าที่ค้ำประกันไม่ให้ฝ่ายตนแข่งกันขูดรีดแรงงานจนเกินไป โดยพยายามช่วงชิงบทบาทดังกล่าวมาจากองค์กรของผู้ใช้แรงงาน  จะเห็นได้ว่ามาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศนั้น ก็เฉกเช่นกฎหมายแรงงานนั่นเอง คือ การสร้างหลักประกัน มิให้เกิดการขูดรีดแรงงานจนก่อให้เกิดวิกฤตกับกระบวนการสะสมทุน เพียงแต่แนวคิดเรื่องมาตรฐานแรงงานมีแนวโน้มที่จะแสดงให้เห็นว่ามีเครื่องมือสร้างหลักประกันที่ได้ผลกว่า ก็คือมีกลไกการติดตามที่คล่องตัวกว่ากระบวนการทางกฎหมาย มีการลงโทษที่กระทบโดยตรงกับธุรกิจ ด้วยการคว่ำบาตรทางการค้า แม้จะแทบไม่มีการกระทำเลยก็ตาม

ในประเด็นการคุ้มครองแรงงานนี้เอง ฝ่ายทุนก็พยายามหาทางเลี่ยงด้วยการกันให้ข่ายการคุ้มครอง แคบเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่ใช้กับลูกจ้างนอกระบบ ลูกจ้างชั่วคราว ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ความพยายามที่จะผลักไสให้คนซึ่งเคยหรืออยู่ในระบบ กลายเป็นคนที่อยู่นอกข่ายการคุ้มครองไป เช่น ลูกจ้างที่เคยอยู่ในระบบและได้รับการคุ้มครองมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำ เมื่อถูกเลิกจ้างแม้จะได้งานเดิมทุกประการ แต่นายจ้างไม่รับกลับเข้าทำงานในโรงงาน หากแต่ส่งมอบวัตถุดิบให้ไปทำในบ้าน ในสภาพเช่นนี้ลูกจ้างผู้รับงานไปทำจะพ้นจากการคุ้มครองทั้งปวงของกฎหมาย รวมตลอดสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาล จากการเป็นลูกจ้างผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม ที่มีนายจ้างเป็นผู้ออกเงินสมทบส่วนหนึ่งให้

มาตรการตอบโต้การเติบโตของอำนาจต่อรองของฝ่ายแรงงานที่สำคัญซึ่งฝ่ายทุนเลือกใช้ในปัจจุบัน คือ การกันตัวเจ้าของทุนออกจากการเป็นนายจ้างตามกฎหมาย ด้วยการใช้การจ้างเหมาช่วง ผลที่เกิดขึ้น คือ เจ้าของทุนไม่ต้องรับผิดชอบต่อกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานและความเท่าเทียมของลูกจ้างที่เข้ามาอยู่ร่วมกระบวนการผลิตเดียวกัน ทำให้ได้แรงงานราคาถูก เพราะขาดการคุ้มครองโดยกฎหมายและอำนาจต่อรอง เพราะกฎหมายไม่ยอมให้ลูกจ้างที่ต่างนายจ้างรวมตัวกัน หรือถ้ารวมตัวกันกับลูกจ้างในโรงงาน ก็จะถูกผู้รับเหมาช่วงจับย้ายไปที่อื่น ดังนั้น ไม่ว่าฝ่ายแรงงานจะต่อสู้ให้ได้กลไกรัฐที่เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตนอย่างไร ฝ่ายทุนก็พยายามแก้ไขโดยการแยกประเภทคนงานให้พ้นไปจากการควบคุมกลไกดังกล่าวจนได้

การรวมตัวของฝ่ายแรงงานภายในระบบที่เป็นทางการอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญมากในประเทศไทยคือ การรวมกลุ่มของแรงงานรัฐวิสาหกิจ แรงงานกลุ่มนี้ก็เช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกตั้งเงื่อนไขให้มีอำนาจต่อรองน้อยที่สุดเมื่อแรกเกิดมีขึ้น ข้อกีดกันข้อแรกเกิดขึ้นเมื่อจะออกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในปี 2518 มีข้อถกเถียงกันว่า คนงานรัฐวิสาหกิจมิได้เป็นแรงงานที่ใช้ผลิตเพื่อหากำไรหากแต่มีลักษณะเป็นพนักงานของรัฐมากกว่า ซึ่งไม่ควรมีสิทธิเช่นเดียวกับการที่ข้าราชการไม่มีสิทธิตั้งสหภาพแรงงาน แต่เพราะบรรยากาศการเมืองภายในที่มีการเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างคึกคัก หรือเพราะผู้นำบางคนซึ่งต้องการจะสร้างภาพลักษณ์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับกันในนานาประเทศ จึงมีมติยอมให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเกิดได้อย่างเป็นทางการ กระนั้น ก็ได้วางข้อจำกัดไว้มากมายจนจะทำอะไรไม่ค่อยได้

ด้วยปัจจัยที่เอื้ออำนวยมากกว่าองค์กรแรงงานภาคเอกชนหลายประการ เช่น จำนวนแรงงานเฉลี่ยแต่ละองค์กร ความมุ่งหวังที่จะยึดสถานประกอบการแต่ละแห่งเป็นเรือนตาย การใช้ชีวิตร่วมกันมากกว่าแค่ทำงานร่วมกัน หากแต่มีที่พักอาศัยระแวกเดียวกัน เช่น คนงานรถไฟ หรือใช้ชีวิตบุกป่าฝ่าดงมาด้วยกัน เช่น คนงานไฟฟ้า เหล่านี้ทำให้องค์กรแรงงานรัฐวิสาหกิจ มีความเข้มแข็งยากที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สามารถทำกำไรให้ใครได้ง่ายๆ การจ่ายค่าจ้าง ค่าตอบแทนก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนประสิทธิภาพของการสร้างมูลค่าเพิ่ม องค์กรแรงงานรัฐวิสาหกิจจึงเป็นหนามยอกอกของผู้ที่มองด้วยสายตาของทุน หรือมองจากความสัมพันธ์ในกระบวนการผลิตมูลค่าส่วนเกิน การพยายามใช้แรงงานรัฐวิสาหกิจให้ มีประสิทธิภาพในการทำเงินให้สูงขึ้นก็ต้องแปลงแรงงานเหล่านี้ให้เป็นทรัพยากรล้วนๆ สามารถจ้างและเลิกจ้างได้อย่างใจ ไม่ติดขัดพันธะทางกฎหมายหรือข้อบังคับ เป็นการปลดปล่อยให้เกิดแรงงานเสรีพร้อมที่จะรับการจ้างด้วยค่าจ้างที่กำหนดโดยกลไกตลาด

ดังนั้น เมื่อกลไกอำนาจรัฐอ่อนลงหลังปี 2540 จึงได้มีการฉวยโอกาสแปรรูปรัฐวิสาหกิจกันขนานใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อทำลายอำนาจต่อรองของฝ่ายแรงงานในรัฐวิสาหกิจ นอกเหนือจากการขยายปริมณฑลทางการค้าของระบบทุนนิยมเข้าสู่เขตหวงห้ามซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นของรัฐ ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และการสิ้นสุดบทบาทขององค์กรแรงงานในองค์การแห่งนั้น

กลุ่มสมานฉันท์แรงงานไทย - สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจ

หลังจากที่ได้กล่าวถึงขบวนการแรงงานในระบบทั้งเอกชนและรัฐวิสาหกิจแล้ว ก็ควรที่จะกล่าวถึงองค์กรอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผู้ใช้แรงงานมองเห็นข้อจำกัดหรือหลุมพรางของความเป็นทางการ และได้พยายามหลบหลีกหรือก้าวข้ามข้อจำกัดดังกล่าวไปสู่การจัดตั้งองค์กรอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งที่เป็นเอกชนและรัฐวิสาหกิจโดยพื้นฐาน. ด้วยข้อจำกัดการรวมตัวทางกฎหมายที่ไม่ยอมให้มีการรวมตัวข้ามพ้นอาชีพเดียวกัน คนงานเอกชนได้พยายามรวมกลุ่มองค์กรโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางอาชีพ ด้วยการยึดเอาพื้นที่เป็นหลัก เช่น กลุ่มย่านรังสิต พระประแดง อ้อมน้อย อ้อมใหญ่ กลุ่มเหล่านี้ต่างก็ร่วมมือกันแลกเปลี่ยนข้อมูล ให้การศึกษา และการทำการเคลื่อนไหวร่วมกันอย่างมีพลัง

 กระนั้นก็ตาม ขบวนการแรงงานไทยที่จัดตั้งขึ้นในรูปสหภาพแรงงานนั้น ต้องเผชิญกับปัญหาพื้นฐานทางสังคมตลอดมานั่นคือ ความไม่เข้าใจของผู้คนในสังคมที่ยังต้องตกอยู่ภายใต้ทุนนิยมแบบอุปถัมภ์ ที่ยังคงเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างนายจ้างเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนในบ้าน ความสัมพันธ์ในเชิงพึ่งวาน ในเชิงวัฒนธรรมและค่านิยม ไม่ควรเคร่งครัดในตัวบทกฎหมาย ไม่เน้นหนักเรื่องสิทธิหน้าที่และไม่เน้นค่าตอบแทนด้วยการคำนวณนับ เหล่านี้เป็นอุปสรรคกับขบวนการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ แรงงานนับตั้งแต่การจัดตั้ง การเคลื่อนไหว ไปถึงกระบวนการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยเลยทีเดียว

ผู้นำแรงงานบางกลุ่มซึ่งแก้ปัญหานี้ด้วยการขยายแนวร่วมเป็นวงกว้าง ข้ามพ้นมิใช่แต่เพียงชนิดของอุตสาหกรรมดังที่กลุ่มย่านได้กระทำมา แต่เป็นการก้าวพ้นความแตกต่างของวิถีชีวิตเลยทีเดียว ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การจัดตั้งกลุ่มสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งรวมเอาองค์กรแรงงานทั้งภาครัฐเอกชน เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายคนตกงาน ผู้ป่วยจากการทำงาน โรคเอดส์ ขบวนการชาวบ้านอย่างสมัชชาคนจน ฯลฯ กลายเป็นขบวนการของผู้ที่เป็นเหยื่อของระบบทุนนิยม โดยได้เคลื่อนไหวต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบของระบบทุนนิยม ที่กระทำต่อเหยื่อในรูปแบบต่างๆ อย่างคึกคัก การเคลื่อนไหวของกลุ่มสมานฉันท์แรงงานไทยดังกล่าวนี้ ดูจะเป็นรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจในการรับมือกับระบบทุนนิยม ที่มีรูปแบบการขูดรีดที่กว้างขวางและซับซ้อน ไม่ได้ขังตัวเองอยู่แต่ในโรงงานและขูดรีดด้วยการกดค่าแรงอย่างที่เป็นมาเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว หากแต่มีรูปแบบที่หลากหลายเกินกว่าองค์กรแบบสหภาพแรงงานในโรงงานจะรับมือไหว

เช่นเดียวกับแรงงานรัฐวิสาหกิจ นอกจากจะถูกขังอยู่กับระเบียบข้อบังคับของพนักงานรัฐวิสาหกิจแล้ว คนเหล่านี้เมื่อรวมตัวกันจดทะเบียน เป็นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ยังต้องถูกจำขังอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ นับตั้งแต่การเรียกร้องอะไรไม่ได้ ไปจนกระทั่งทำอะไรไม่ได้ เช่น ห้ามนัดหยุดงาน เป็นต้น ความพยายามที่จะข้ามกำแพงเหล่านี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า นับตั้งแต่อดีต แต่ก็มักไปจบที่ผู้นำซึ่งมีความสามารถสูง ถูกดูดซับไปสังกัดองค์การทางการเมืองและพยายามใช้วิธีทางการเมืองเข้าแก้ปัญหา ซึ่งในที่สุดก็จบลงด้วยความล้มเหลว และก่อให้เกิดความแตกแยกในที่สุด อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะทำให้ขบวนการรัฐวิสาหกิจมีอำนาจต่อรองสูง และปกป้องตัวเองจากการขูดรีดของระบบทุนนิยมได้ ก็โดยการรวมกลุ่มอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์ชัดแจ้งประการหนึ่ง คือ การต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็คือการต่อต้านกระบวนการทำแรงงานให้กลายเป็นสินค้านั่นเอง จนกระทั่งวันนี้ สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจ อันเป็นแนวร่วมรัฐวิสาหกิจเพื่อต่อต้านการแปรรูปก็ยังคงเป็นขบวนการซึ่งมีบทบาทที่โดดเด่นของผู้ใช้แรงงานในรัฐวิสาหกิจอยู่

อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้ก็ใช่ว่าจะมีแต่ความประสานสอดคล้องในผลประโยชน์และจุดยืนตลอดไปเสียทีเดียวไม่ มีความแตกต่างบางอย่างที่เป็นโจทย์ท้าทายความเข้มแข็งและความคงอยู่ของพันมิตรกลุ่มนี้อย่างสำคัญ นั่นคือ ความแตกต่างของผลประโยชน์และข้อเรียกร้องของรัฐวิสาหกิจที่ถูกแปรรูปไปแล้วบางส่วน และที่ยังไม่ได้มีการแปรรูป ปัญหาจึงอยู่ที่จุดยืนของข้อเรียกร้องและการเคลื่อนไหว จะประสานกันอย่างไร ?

จากที่ได้กล่าวมาแล้ว เราจะพบว่ากระบวนการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินในสังคมไทย ได้มีพัฒนาการและการปรับตัวทั้งฝ่ายแรงงานและฝ่ายทุน สำหรับฝ่ายแรงงานแล้ว การรวมกลุ่มในรูปสหภาพแรงงานนับเป็นยุทธศาสตร์ขั้นพื้นฐาน แต่กลุ่มองค์กรที่เกิดขึ้นมิได้เกิดท่ามกลางความว่างเปล่า หากแต่จะต้องจ่ายต้นทุนด้วยข้อจำกัดบางอย่างที่ขัดขวางไม่ให้ขบวนการแรงงาน มีความสามารถลดทอนพลังงานของระบบทุนนิยมได้อย่างมีผล กระนั้นก็ตาม ฝ่ายแรงงานก็ได้พยายามพัฒนาตัวเองให้ข้ามพ้นอุปสรรคที่ต้องเผชิญได้ระดับหนึ่ง ด้วยความพยายามที่จะจัดตั้งกลุ่มที่พ้นจากเงื่อนไขของรัฐ นี่คือสถานการณ์ที่เป็นอยู่

ปัญหามีอยู่ว่า สถานการณ์ที่กล่าวนี้ เป็นภาพรวมของความสัมพันธ์แบบนิยมในสังคมไทยแค่ไหน คำตอบมีอยู่ว่า เรากำลังพูดถึงภาพเล็กที่อาจชัด แต่นั่นไม่ใช่ภาพใหญ่หรือภาพรวมของเหตุการณ์ของสังคมไทยอย่างแน่นอน เมื่อเราพูดถึงการต่อสู้ของแรงงานในฐานะของสมาชิกสหภาพแรงงาน เราไม่ได้พูดถึงคนส่วนใหญ่ที่มีส่วนสร้างผลิตผล เข้าสู่ตลาดในระบบทุนนิยม ซึ่งมีอย่างน้อย 37 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างมีสิทธิ์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานประมาณ 9 ล้านคน และในจำนวน 9 ล้านคน นี้มีผู้ที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและใช้สหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือปกป้องตัวเอง จากการขูดรีดของความสัมพันธ์ในระบบทุนนิยมเพียง 5 แสนคน หรือร้อยละ 5.5 เท่านั้นเอง ข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ให้อรรถาธิบายได้อย่างชัดเจนว่า มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ผลิตมูลค่าส่วนเกินให้กับการสะสมทุนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังที่อาจารย์สุภา ศิริมานนท์ ใช้คำว่า ยิ่งใหญ่ขึ้น ยิ่งใหญ่ขึ้นนั้น คนเหล่านี้กลับต้องตัวลีบลง สวนทางกับการเติบใหญ่ของทุนนิยมที่ไม่สามารถคำนวณ นับอัตรากันได้

กับคำกล่าวที่ว่า ความจริงในวันนี้และที่จะเกิดในวันหน้า ของผู้ใช้แรงงานไทยบนเส้นทางทุนนิยมสายนี้จะเป็นเช่นไรนั้น อยากจะยกตัวอย่างที่ผมพบมาในเดือนมีนาคมเมื่อหลายปีมาแล้ว ในการบรรยายให้ผู้ใช้แรงงานคราวหนึ่ง ผมทักทายผู้เข้าฟังการอบรมด้วยความอยากเป็นกันเองว่า เออ! ลูกใครจะสอบเข้าจุฬาบ้าง?” ผู้ฟังค่อยๆ หันหน้ามามองผม ราวกับว่าผมเป็นมนุษย์ต่างดาว เพราะถามเขาด้วยภาษาต่างด้าวที่ไม่คุ้นเอาเสียเลย. ครับ ! สำหรับผู้ใช้แรงงานแล้ว ความฝันเรื่องลูกเรียนมหาวิทยาลัยนั้น เขาเซ็นเซอร์ไปเสียตั้งนานแล้ว สังคมอะไรหนอที่ทำให้คนสิ้นหวังได้ชะงัดถึงเพียงนี้ ?
 

ที่มา : ชุดความรู้เที่ยงคืน กรรมาชีพไทยภายใต้กระแสทุนนิยม http://www.midnightuniv.org/